“บล.บัวหลวง” คัด 6 กลุ่ม รับกระตุ้นศก.-ท่องเที่ยวฟื้น ชี้เป้าหุ้นไทยปี 67 ทดสอบ 1,600 จุด

บล.บัวหลวง ประเมินตลาดหุ้นไทยปี 67 มีโอกาสฟื้นตัว มองเป้าหมายดัชนีแตะ 1,600 จุด รับรัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ และภาคท่องเที่ยวกลับมา แนะลงทุน 6 กลุ่มโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มธนาคาร-การบริโภคภายในประเทศ-ค้าปลีกส่งออกแปรรูป-ท่องเที่ยว-อิเล็กทรอนิกส์-ผู้ผลิตไฟฟ้า


นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแย่กว่าตลาดเอเชีย, ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นยุโรป จากหลายปัจจัยกดดัน เช่น การปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงจาก 1. ตัวเลขส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด 2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด 3. การลงทุนภาครัฐหดตัวจากการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลบริหารประเทศ (ไม่รวมสงครามอิสราเอลและฮามาสที่ไม่คาดคิด) แต่ในช่วงเดือนธันวาคม

โดยคาดการณ์ว่าตลาดทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับมาบ้าง หลังเริ่มรับรู้ปัจจัยดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และคาดหวังจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 เรามองตลาดหุ้นไทยเดือนสุดท้ายของปีนี้จะขึ้นไม่ได้มากมองระดับ 1,430 จุด โดยเม็ดเงินจากกองทุนรวม TESG ที่จะเข้าซื้อหุ้นในเดือนธันวาคม อาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดแต่ไม่ได้มากจนมีนัยยะผลักดันดัชนีหุ้นไทย

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยปี 2567 ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่าน่าจะเห็นการพื้นตัวตลอดทั้งปี โดยประเมินเป้าหมายดัชนีระดับ 1,600 จุด โดยคาดว่างบประมาณน่าจะผ่านในช่วงต้นปี ฉะนั้นการเบิกจ่ายงบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังในปี 2566 เป็นปีที่การลงทุนของภาครัฐไม่ต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 รัฐจะเริ่มลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทำให้การลงทุนของรัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น เส้นทางหลวง และ High Speed Train ฉะนั้นมองตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น จากความคาดหวังการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น, ความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มน้อยลง, ความกังวลสถานะการตึงตัวของระบบการเงินที่น้อยลง และกำไรจากการดำเนินงานของ

ด้าน บริษัทจดทะเบียน (บจ.) อาจเติบโตประมาณ 15% ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเติบโตกำไรของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ส่วนในแง่ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ค่า P/E คาดว่าจะซื้อขายระดับ 16.50 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวของไทย (ปัจจุบันคาดการณ์ค่า P/E ปี 2567 เท่ากับ 14 เท่า) เทียบกับปี 2566 ที่อยู่ 16.40 เท่า

ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในไทย มองว่ายังต้องพึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจีนเป็นหัวเรือใหญ่ของเศรษฐกิจเอเชียและอาเซียน หากตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้น จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนน้อยลง ก็จะทำให้เงินไหลเข้าอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังดูไม่ดีและแย่ลงไปอีก การคาดหวังเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะลำบาก

แต่หากพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า เม็ดเงินต่างชาติอาจกลับเข้ามาไทยได้ไม่ยาก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3/2566 ออกดีกว่าคาด ทำให้เริ่มเห็นการอัพเกรดมุมมองของจีนไปในทางบวกมากขึ้น, แซงก์ชั่นของรัฐบาลจีนเริ่มขั้นตอนการเยียวยาผู้ประกอบการอสังหาฯ แล้ว โดยการจัดตั้งกองทุนและออกพันธบัตร เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในปี 2567, การผลักดันเศรษฐกิจจีนในปีหน้าจะมีความต่อเนื่องและมีมาตรการเพิ่มเติม

รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว หลังใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมาระดับหนึ่งแล้ว ฉะนั้นถ้าเครื่องจักรที่ผลักดันเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ ที่เป็นเบอร์ 1 และจีนเบอร์ 2 กลับมาขยายตัวอีกครั้งภาพที่ต่างชาติมองมาไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาส่งออกและสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นเรื่องดีในสายตานักลงทุน

นายชัยพร กล่าวต่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% จากปีนี้ที่คาดไว้ 2.7% หากโครงการ Digital Wallet เกิดขึ้น แต่ถ้าโครงการนี้ไม่เกิดเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโต 3.2% ส่วนตัวเลขส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3.8% จากปีนี้ที่อาจติดลบ 1.3% ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนทรงตัว หรือน่าจะติดลบเล็กน้อยที่ 0.6%

ส่วนภาคท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวอาจกลับมาอยู่ระดับ 35 ล้านคนต่อปี แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ 40-41 ล้านคนต่อปี เมื่อเทียบกับปีนี้ที่มีตัวเลขต่ำกว่าเป้าหมายที่ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งต้องรอดูนโยบายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากภาครัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง จากระดับสูงสุดในช่วงกลางปี 2566 โดยคาดว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลกระทบภัยแล้ง แต่คงไม่แรงและกลับไปสร้างปัญหากับนโยบายการเงิน (เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนมีการจัดเตรียมรองรับได้ดี ผลผลิตจะไม่ตกต่ำ) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองกรอบเงินเฟ้อไม่เกิน 2% ขณะที่ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง มองประมาณ 1% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลง 1 ครั้ง จากปัจจุบันที่อยู่ 2.5%  มาอยู่ที่ 2.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับค่าเงินบาทในปีนี้มีความผันผวนอีกครั้ง จากต้นปี 34 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าในปี 2567 น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น มองไว้ที่ 34.30 บาท จาก 2 ปีที่ผ่านมาที่ผันผวนผิดปกติตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้น ปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ทั้งกรณีรัสเซีย และยูเครน รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งตอนนี้สถานการณ์สงครามใน 2 พื้นที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ส่วนราคาน้ำมันตอนนี้ดีมานด์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังอ่อนแอเทียบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และนอก OPEC ที่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่สามารถรองรับการเติบโตของด้านการบริโภคไปได้ถึงปี 2570 ดังนั้นคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะแกว่งในกรอบ 75-85 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกรอบที่สมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า แนะนำกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ อันดับ 1 คือ ตราสารหนี้สัดส่วน 43% มองเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในครึ่งปีแรก เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่จะเห็นการปรับตัวลดลงทั่วโลก แต่ต้องเป็นตราสารหนี้คุณภาพ เพราะแม้จะเห็นแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยลดลง แต่ไม่ได้ลงเร็ว

อันดับ 2 คือ ทองคำ สัดส่วน 12% ในขณะที่คนมองเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก ทองคำจะช่วยป้องกันความเสี่ยง

อันดับ 3 คือ ตราสารทุน หรือหุ้น สัดส่วน 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) แต่ต้องรอดอกเบี้ยลดลงระดับหนึ่งก่อน นักลงทุนจึงจะมีความมั่นใจ ขณะที่หุ้นไทยยังดูดี เพราะปีนี้ลงไปมาก โครงสร้างหุ้นไทยเป็นกลุ่มธุรกิจวัฏจักร กำไรอาจดีดกลับได้หนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้หลังตลาดหุ้นอื่นขึ้นไปแล้ว

ปีหน้ากลุ่มโดดเด่น คือ กลุ่มธนาคาร, การบริโภคภายในประเทศ, ค้าปลีกส่งออกแปรรูป, การท่องเที่ยว,อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากกำลังซื้อชะลอจากการคุมสินเชื่อ ส่วนผู้ที่สนใจการลงทุนต่างประเทศ แต่ไม่สะดวกในการโอนเงินไปซื้อลงทุนตรง ก็สามารถลงทุนผ่าน DR ในกระดานหุ้นไทยได้ แนะนำ DR ที่ครอบคลุมการลงทุนในเวียดนามอย่าง FUEVFVND01 อ้างอิงกับดัชนี Vietnam Diamond และ E1VFVN3001 อ้างอิงกับดัชนี VN30 (หุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม) หรือ DR “HK01” นายชัยพร กล่าว

นอกจากนี้ ETF ตัวแรกของฮ่องกงที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Tracker Fund of Hong Kong เป็น ETF อ้างอิงดัชนี Hang Seng เรือธงของฮ่องกง และ DR “HKCE01” ETF ที่รวมบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Hang Seng China Enterprises Index ETF ที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงเป็นอันดับ 2 ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และลงทุนอ้างอิงดัชนี Hang Seng China Enterprises ที่มีบริษัทจีนชั้นนำจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จำนวน 50 หลักทรัพย์

Back to top button