PTTGC คว้าอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืน DJSI ธุรกิจเคมีภัณฑ์ 5 ปีซ้อน
PTTGC ปลื้ม! คว้าอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืน DJSI ของโลก "ธุรกิจเคมีภัณฑ์ 5 ปีต่อเนื่อง ตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนระดับสากล พร้อมมุงสู่ Net Zero ปี 2593
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัทฯได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ในกลุ่ม “World Index” ให้เป็นที่ 1 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ด้วยคะแนนสูงสุด 5 ปีต่อเนื่อง โดย S&P Global ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในระดับสากล ด้วยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) (ESG) ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 สอดคล้องกับความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดย PTTGC ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีฐานการผลิตทั่วโลก พร้อมกำหนดกลยุทธ์ในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือ Net Zero Company ในปี 2593 และมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างสมดุล ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (ESG) มาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
E – Environment (ด้านสิ่งแวดล้อม) PTTGC กำหนดนโยบายและพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) โดยมีแผนงานที่ชัดเจน ด้วยแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิตอลมาใช้ในกระบวนการผลิต
การปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ปรับสัดส่วนการลงทุนและสร้างการเติบโตของธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ธุรกิจ High Value (Performance Chemicals) และธุรกิจที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio & Circularity Business) รวมถึงการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การลดคาร์บอนผ่านการดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติ (Nature-based Solutions) ผ่านโครงการ “ยิ่งปลูกยิ่งดี” นอกจากนี้ ยังศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต
การตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในทุกพื้นที่ปฎิบัติงาน
S – Social (ด้านสังคม) โดย PTTGC ตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม ทั้งพื้นที่โดยรอบโรงงานและในระดับประเทศ ด้วยการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมการพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ พร้อมทั้งผลักดันจุดแข็งของท้องถิ่น สร้างอัตลักษณ์ชุมชน สู่การวางรากฐานเศรษฐกิจระดับชุมชนและสังคม ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วในชุมชน (Community Waste Model) เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วในระดับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายต่อยอดไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ในส่วนของพนักงาน มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างวัฒนธรรม และบรรยากาศการทำงาน ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ด้วยตระหนักว่าพนักงานทุกคนเป็นปัจจัยสำคัญ และมีคุณค่า นำมาซึ่งความสำเร็จ ความก้าวหน้า และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ PTTGC ได้ลงทุนด้านการพัฒนาขีดความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ (Human Capital Development) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรยั่งยืน
G – Governance & Economic (ด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ) โดยให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจด้วยความโปร่งใส ยึดมั่นในจรรยาบรรณธุรกิจ (Business Ethics) พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น ยกระดับการให้บริการที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ รวมถึงความต้องการของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า GC ภูมิใจที่เป็นบริษัทไทยบริษัทแรกและบริษัทเดียวในโลกที่ได้รับการจัดอันดับนี้ ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสมดุล ESG อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน บริษัทฯ ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (E) สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคม (S) ผ่านการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมทางธุรกิจ (G) นอกเหนือจากการเป็นต้นแบบองค์กรยั่งยืนที่มีความตั้งใจในการแชร์ Know-how ในเรื่องนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าส่งเสริมความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อขยายความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วน ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
โดยดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนขององค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล คัดเลือกจากบริษัทขนาดใหญ่กว่า 3,500 แห่งทั่วโลก จัดอันดับโดย “S&P Global” ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีการบริหารจัดการครบทุกมิติตามหลัก ESG สามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน รวมถึงสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย