ระส่ำ! ITD โดน 2 เด้ง “ทริส” หั่นเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ เซ่นหนี้บาน-ขาดสภาพคล่อง

“ทริสเรทติ้ง” ลดอันดับเครดิตองค์กร ITD เป็น “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้เป็นระดับ “BB” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” เหตุอัตราส่วนหนี้สูงเกินเกณฑ์ ด้านแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Negative” หวั่นความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง-ภาระหนี้สูง ทำเครดิตร่วงอีกรอบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นระดับ “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ “BB” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตนั้นยังคง “Negative” หรือ “ลบ” ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ให้ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ขั้นเพื่อสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทที่ระดับ 55.8% ซึ่งสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง

โดยการลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างอ่อนแอและมีภาระหนี้ที่สูง นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในตลาดตราสารหนี้ยังทำให้บริษัทหลายๆ แห่งซึ่งรวมถึงบริษัทเองออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมได้ยากขึ้น ส่วนแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทออกไป เช่น โรงงานปูนซีเมนต์และหุ้นที่ถือในเหมืองแร่โปแตซนั้น อยู่ในระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กำหนดเวลาการทำธุรกรรมดังกล่าวก็ยังคงไม่มีความแน่นอน ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” บ่งบอกว่าอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงต่อไปได้อีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าหากสถานะสภาพคล่องของบริษัทไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นจากระดับปัจจุบันได้

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (Engineering and Construction – E&C) ภายในประเทศตลอดจนมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมากและหลากหลายของบริษัท ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนจากภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ โครงการที่ยังไม่สร้างรายได้และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก รวมถึงความอ่อนไหวต่อการแข่งขันที่รุนแรงของบริษัทและลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่จำนวน 5.26 หมื่นล้านบาท หรือเทียบเท่าระดับ 76% ของประมาณการของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ยังเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรา EBITDA Margin ของบริษัทก็ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8.9% และ 11.5% จากที่ระดับเพียง 4.6% และ 8.0% ในปี 2565 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ภาระดอกเบี้ยของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.2 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเกิดจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเกินกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 4.3 หมื่นล้านบาท โดย ณ เดือนกันยายน 2566 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 78.9% ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 79.7% ในปี 2565 อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ที่ 2.75 เท่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากระดับ 5.1% ในปี 2565

แม้ว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่บริษัทก็ยังคงมีข้อจำกัดภายใต้ข้อกำหนดทางการเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งตามข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคารนั้นระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.89 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 2.97 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่ตึงตัวอีกด้วย โดย ณ เดือนกันยายน 2566 แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 4.6 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 8.2 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวนทั้งสิ้น 2.64 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 2.0 พันล้านบาท เงินกู้จากธนาคารจำนวน 2.32 หมื่นล้านบาท และหนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงิน อื่นๆ อีกจำนวน 1.2 พันล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประจำปีนั้นคาดว่าจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3.0 พันล้านบาท

โดยเมื่อพิจารณาจากแหล่งสภาพคล่องของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องต่ออายุเงินกู้ยืมที่ใกล้หมดอายุส่วนใหญ่ออกไป (Refinance) เพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้เพียงพอและเพื่อใช้เป็นเงินทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสภาวะตลาดตราสารหนี้ที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะเผชิญกับความยากลำบากในการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำไปใช้ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 55.8% จาก 49.8% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ที่ระดับ 50% แล้ว ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญ ในเรื่องลำดับของสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทจึงต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ขั้นเพื่อสะท้อนถึงการด้อยสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท

ทั้งนี้ ITD มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนต่อเนื่องส่วนหนึ่งมาจากมาร์จิ้นที่อยู่ในระดับต่ำ แต่อีกสาเหตุคาดว่ามาจากลูกหนี้การค้าที่ค้างคาและยังเก็บเงินไม่ได้จำนวนมาก เช่น PT Thailindo Bara Pratama ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการขุดคัดแยกถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหรือบริษัทลูกของ ITD ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มียอดหนี้ค้างชำระ 346.5 ล้านบาท รวมทั้งบริษัท PAM SAKOA COAL SA (PAMS) / ITD Madagascar ซึ่งประกอบธุรกิจเหมืองแร่ที่ประเทศมาดากัสการ์ โดยมียอดลูกหนี้การค้าค้างชำระ 66.05 ล้านบาท และมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นอีกก้อนจำนวน 17.44 ล้านบาท รวม 2 ก้อน ทั้งหมด 83.94 ล้านบาท

ขณะที่ PAMS และ ITD Madagascar มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ITD โดย PAMS เป็นบริษัทที่มี นายเปรมชัย กรรณสูต และ นางนิจพร จรณะจิตต์ ถือหุ้นทางอ้อมรวมกัน 89.73% ผ่านบริษัท เหมืองแร่เอเซียไทย จำกัด นอกจากนี้ ยังมีนายปีติ กรรณสูต กรรมการ ITD นั่งเป็นกรรมการใน PAMS ด้วย ส่วน ITD Madagascar นั้นเป็นบริษัทลูกของ ITD

นอกจากนั้นยังมี PAN African mining Corp ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาด้านบริหารโครงการเหมืองถ่านหิน “SAKO” ที่ประเทศมาดากัสการ์ โดยมียอดลูกหนี้ค้างชำระ 103.57 ล้านบาท ซึ่ง PAN African mining Corp เป็นบริษัทที่ นายเปรมชัย และ นางนิจพร ถือหุ้นทางอ้อมรวมกัน 90% ผ่านบริษัท เหมืองแร่เอเซียไทย จำกัด รวมทั้งมี 3 บอร์ด ITD ได้แก่ นายธรณิศ กรรณสูต นางนิจพร จรณะจิตต์ และนายปีติ กรรณสูต เป็นกรรมการใน PAN African mining Corp

ทั้งนี้ ยังมีค่าเผื่อลูกหนี้การค้าบริษัทที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 345.49 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการฟ้องร้องคดีความ ได้แก่ บริษัทร่วมที่ชื่อบริษัท MCRP. Construction ซึ่ง ITD ถือหุ้น 24% โดย ITD ได้ขายเครื่องจักรให้กับ MCRP เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการถมทะเลที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2556 แต่โครงการถูกยกเลิกไป ซึ่งมียอดลูกหนี้ค้างชำระ 340.52 ล้านบาทและบริษัท อ่าวปอแกรนด์ มารีน่า จำกัด ซึ่งมีนายเปรมชัย กรรมการ ITD ถือหุ้นทางอ้อม สัดส่วน 90% ผ่านบริษัท 3 บีโฮลดิ้ง จำกัด ขณะเดียวกันก็นั่งเป็นกรรมการใน อ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า ด้วย ซึ่งมียอดลูกหนี้การค้าค้างชำระ 4.97 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเงินให้กู้ยืมแก่ Sino Lao Aluminum Corporation Limited  (ถือหุ้น 34%) ประกอบธุรกิจเหมืองบ๊อกไซด์ในสปป.ลาว ยอดหนี้จำนวน 256.13 ล้านบาท โดยรวมเท่ากับ ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566  ITD มียอดลูกหนี้คงค้างชำระ 1,135.21 ล้านบาท

Back to top button