เปิด 24 หุ้น จ่อรับเทรนด์ธุรกิจ “ไลฟ์สไตล์” โดดเด่นปี 67
เปิด 24 หุ้น จ่อรับเทรนด์กลุ่มรูปแบบการใช้ชีวิต (ไลฟ์สไตล์) โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หลังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้ปี 67 มีความโดดเด่นน่าจับตามองเป็นพิเศษ!
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2567 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองเป็นพิเศษ โดยสามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว 2. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ การดูแลสุขภาพ การรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล 3. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต และ 4. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัล และซอฟท์แวร์ ตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรมทั้งรัฐและเอกชน
โดยกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและเป็นกระแสยอดนิยมในสังคมทุกวันนี้ และอนาคตกระแสยิ่งดีขึ้น คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “ไลฟ์สไตล์”
สำหรับกลุ่มธุรกิจนี้ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงได้รวบรวมหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจนี้และมีโอกาสเติบโตรองรับเทรนด์หรือกระแสไลฟ์สไตล์ โดยแยกออกตามลักษณะประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย
1. ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์ สำหรับหุ้นที่ได้รับประโยชน์ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI,บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ITC และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU
2. ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นเชื่อว่าธุรกิจรีไซเคิลบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ในเทรนด์ดังกล่าว เช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL หนึ่งในผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิล โดยเจาะจงการดำเนินงานในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องต่อสู้กับกับขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม และประสบกับปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
เช่นเดียวกับ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ซึ่งก่อนหน้ามีการลงนามซื้อกิจการของบริษัท Recycling Holding Volendam BV หรือ “Kras” (คราส) ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และยังมีกิจการที่ครอบคลุมการรีไซเคิลพลาสติกตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลาย
ส่วนธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์ อย่างกรณี ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ที่ก่อนหน้าได้มีมติอนุมัติการจัดตั้ง 3 บริษัทย่อย เพื่อดำเนินกิจการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
รวมถึง บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 ร่วมมือกับ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม หรือ Green Tech โดยมีขอบเขตในการให้คำปรึกษา รวมถึงให้บริการพัฒนาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Technology และการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร (Carbon Accounting) สำหรับกลุ่มธุรกิจสีเขียว (Green Business)
ขณะที่ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ซึ่งมีความชำนาญงานที่ปรึกษาโครงการด้านระบบน้ำและสิ่งแวดล้อม จะได้รับงานที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับ บริษัท ดิตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เข้าร่วมโครงการพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าทาง TEAMG และ DITTO จะได้ประโยชน์พอสมควรด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ายังคงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ และเริ่มเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV แล้วขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งดันไทยเป็นฐานผลิตรถ EV ครบวงจร ปี 2567
ประกอบกับยอดจองรถอีวีในงาน “Motor Expo”ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน -11ธันวาคม2566 ที่สูงถึง 53,248 คันจากผู้ผลิตจีนถึง 5 ค่ายด้วยกันที่ติด TOP 10 โดย BYD หรือบีวายดี มียอดจองสูงถึง 5,455 คัน เป็นอันดับ 3 ส่วน AION หรือไอออน มียอดจองซื้อ 4,568 คัน เป็นอันดับ 7 สะท้อนถึงอัตราการเติบโตของรถยนต์ EV ในประเทศไทย
ทั้งนี้หุ้นที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าวก็คือ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เนื่องจากขณะนี้ AH เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวของไทยที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์EV อยู่แล้ว เช่น การผลิตรถยนต์ Vinfestรุ่น VFB VF9 หรือ BMW iX, i7 เป็นต้น โดยในปี 2567 บริษัทจะมีคำสั่งประกอบและ OEM จากกลุ่มลูกค้า EV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ผลิตจากจีน รวมถึงลูกค้าหลักอย่าง ISUZU ที่มีแผนจะผลิตรถกระบะไฟฟ้าปี 2568
ขณะที่บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA,บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน)หรือ COM7, บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)หรือ ASAP, บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน)หรือ NYT และบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ก็ได้ประโยชน์จากยอดจองและการนำเข้ารถ EV ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ หุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รถอีวี 1) แบตเตอรี่คือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA, บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP (ถือหุ้นใน Banpu NEXT)
2) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE