บอร์ด PTT นัดถกด่วนพรุ่งนี้! หลังรัฐรีดเงิน 4.3 พันล้าน ดึงชอร์ตฟอลอุ้มค่าไฟ
ครม. สั่งปตท.จ่ายค่า Shortfall รวม 4.3 พันล้านบาท หวังลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 67 ไม่ให้เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย พร้อมไฟเขียวโครงสร้างราคาก๊าซฯ ใหม่ ส่วนกฟผ.แบกภาระเงินคงค้างสะสมแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน ด้านบอร์ดปตท.นัดประชุมด่วน 21 ธ.ค.นี้ หารือจ่ายชอร์ตฟอลก้อนใหญ่ภายในเดือนนี้ ก่อน “พีระพันธุ์” สรุปค่าไฟฟ้างวดปี 67 เข้าครม.สัปดาห์หน้า ล่าสุด “เศรษฐา” สั่งตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร นาน 3 เดือน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (19 ธ.ค. 2566) มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือนมกราคม-เมษายน 2567 สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านครัวเรือน โดยจะตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่ประชุมครม.ได้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าจากเดิมกำหนดอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย แต่จะปรับลดลงในอัตราเท่าใดนั้น กระทรวงพลังงานจะขอพิจารณาอีกครั้ง โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน
ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จะมีการทบทวนสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะมีการนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติในรอบนี้ด้วย จากมาตรการดังกล่าวทั้งหมด จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย
ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศก็ยังผลิตไม่ได้ตามแผน เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน อีกทั้งสงครามภายนอกที่ยืดเยื้อ และพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ก็ยังมีต้นทุนสูง ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบมาเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า และที่ผ่านมาก็ได้รับการช่วยเหลือจากกฟผ. ในการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าบางส่วนมาโดยตลอด รวมทั้งให้ประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรม ดังนั้นผมต้องรักษาสมดุลให้กับทุกฝ่าย” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ได้มีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในส่วนของค่า Shortfall ที่ปตท.ต้องจ่ายให้กับกกพ.นั้น คาดว่าจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดปตท.ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ โดยสืบเนื่องมาจากในช่วงเดือน พ.ค. 2566 ทาง กกพ. ได้ส่งหนังสือคำสั่งถึงปตท. เพื่อขอให้คืนเงิน Shortfall ภายใต้สัญญา DCQ (Daily Contract Quantity) เป็นจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (แปลงเอราวัณ) ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 แต่ทางปตท.ยื่นอุทธรณ์ จนถึงปัจจุบันทางกกพ.ยังไม่ได้รับค่า Shortfall จากทางปตท.แต่อย่างใด
ส่วนวงเงิน 6,000 ล้านบาท ที่กพช.ได้ขอความร่วมมือจากปตท.เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ม.ค.-เม.ย. 2566) รวม 6,000 ล้านบาท มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้านั้น เป็นคนละส่วนกับ Shortfall ดังนั้นภายหลังจากมีมติครม.ในครั้งนี้ ทางปตท.จะต้องจ่ายค่า Shortfall ให้กับกกพ.ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อใช้สำหรับเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2567
“ที่ผ่านมา กกพ.มีคำสั่งให้ปตท.จ่ายค่า Shortfall จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิตในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 แต่ทางปตท.ยื่นอุทธรณ์ ส่วนวงเงิน 6,000 ล้านบาท ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ที่กพช.ขอความร่วมมือจากทางปตท.นั้น เป็นคนละส่วนกัน โดยหลังจากนี้คาดว่าปตท.จะเสนอบอร์ดปตท. และน่าจะต้องจ่ายเงิน Shortfall ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้ทันกับการใช้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้างวดม.ค.-ธ.ค. 2567 เหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่กลุ่มเปราะบางจะมีงบกลางเข้ามาอุดหนุนเพิ่มเติม ทำให้ค่าไฟฟ้ากลุ่มนี้ยังเท่าเดิมที่ 3.99 บาทต่อหน่วย” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพื่อลดความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ตามที่กระทรวงพลังงานได้เสนอ โดยมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ประกอบด้วย มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งครม.ได้มีมติให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–31 มี.ค. 2567
โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการด้านราคา ใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ในส่วนของราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ประชุมครม.ก็ได้มีมติให้ตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–31 มี.ค. 2567 โดยบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม คือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยในส่วนนี้จะใช้งบกลางในการบริหาร คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,950 ล้านบาท
โดยระหว่างการประชุมครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อสั่งการเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยให้หาแนวทางตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย