IROYAL ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 58 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าตลาด mai
IROYAL ยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 58 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าตลาอดเอ็ม เอ ไอ โดยแต่งตั้ง APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อสู่ผู้นำในการให้คำปรึกษาและแนะนำโซลูชั่น และจำหน่ายอุปกรณ์และระบบวิศวกรรม พร้อมมุ่งขับเคลื่อนสู่ธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IROYAL เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษา แนะนำโซลูชั่น จำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการทางวิศวกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ครอบคลุมงานติดตั้งและงานซ่อมบำรุงแบบครบวงจร สำหรับเครื่องจักรในระบบการผลิตไฟฟ้า ให้แก่ โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย เช่น โรงปูนซีเมนต์ โรงปิโตรเคมิคอล โรงกลั่นน้ำมัน พร้อมบริหารระบบสินค้าคงคลังสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศ สปป.ลาว
ทั้งนี้ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานมานานกว่า 40 ปี ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการจนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าที่เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่สำคัญในกลุ่มลูกค้าประเภทอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ทีพีไอ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL และ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด (โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว) เป็นต้น
โดยปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ให้บริการจัดหาและจำหน่าย จะมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนกระบวนการผลิตหรือการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงช่วยลดผลกระทบหรือแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบเผาไหม้ (Combustion System) เช่น อุปกรณ์ที่เป่าขี้เถ้าที่ผนังท่อในห้องเผาไหม้เชื้อเพลิง (Soot Blower) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบจัดการของเสียและไอเสีย (Flue Gas Management System) เช่น อุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองชนิดไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator:ESP) ซึ่งเป็นกระบวนการกรองมวลสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบเผาไหม้ ด้วยเทคโนโลยีการจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศก่อนระบายออกไปสู่ภายนอก
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบระบายความร้อน (Heat Exchanger System) เช่น แผงระบายความร้อน (Fill Pack) ซึ่งอยู่ในระบบหอหล่อเย็นที่ทำหน้าที่ลดอุณหภูมิน้ำ และวนกลับไปใช้ในโรงงานหรือระบบต่างๆ เป็นต้น
4. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบประปา (Water System) เช่น เครื่องกรองอนุภาคระดับไมครอนในน้ำดิบ (Microfiltration) ปั๊มน้ำ (Pump) วาล์ว และหัวขับลมที่ใช้ในการควบคุมวาล์ว (Valve and Pneumatic Actuator) ระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน (Uninterruptible Power Supply System) เช่น เครื่องสำรองไฟ (UPS) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นต้น
อีกทั้งบริษัทมุ่งมั่นให้คำปรึกษาและจัดหาผลิตภัณฑ์จากโรงงานที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นนำในกระบวนการผลิตและมีการควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากลจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำระดับโลก โดยนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของตราผลิตภัณฑ์ชั้นนำในต่างประเทศในการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบต่างๆ มากกว่า 25 ตราผลิตภัณฑ์ และกลุ่มบริษัทยังสามารถร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์เฉพาะทางตามความต้องการของลูกค้า (Customized) ซึ่งมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ลูกค้ามีอยู่ เพื่อช่วยให้การดำเนินงานของลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายภณภัทร กล่าวอีกว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายอุปกรณ์และระบบวิศวกรรมที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก โดยมุ่งขับเคลื่อนไปสู่ธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” จึงมีแผนมุ่งขยายสายผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการจัดหาให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยวางแผนลงทุนและให้บริการใน 2 ธุรกิจใหม่ในอนาคต ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Environmental Solutions and Services) เช่น วัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพให้กับโรงกลั่นน้ำมันและการบำบัดทางเคมีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ
2. กลุ่มธุรกิจบริการด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรม (Digital Services and Solutions) เช่น โรงไฟฟ้าอัจฉริยะและโซลูชั่นอุตสาหกรรม (Intelligent Power Plant and Industrial Solutions) ในอุตสาหกรรม Industrial Internet of Things หรือ IIoT รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งการขยายกิจการดังกล่าวนับเป็นการสร้างความสมดุลของธุรกิจ รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและต่อยอดช่วยเสริม Ecosystem ทางธุรกิจของ IROYAL ให้เข้มแข็ง เพื่อมุ่งสู่ผู้นำในการจัดจำหน่ายอุปกรณ์และระบบวิศวกรรม และพร้อมขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจรในอนาคต
ด้าน นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน IROYAL กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai)
ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 115 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 86 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 230 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 58 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.22 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มบริษัท