ส.อ.ท. ลุ้นยอด “ส่งออกรถยนต์” ปีนี้แตะ 1.1 ล้านคัน เด้งรับมาตรการ “EV3.5”
ส.อ.ท. เผยการผลิตรถยนต์ 11 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ลดลง 0.98% ลุ้นส่งออกทั้งปี 66 แตะ 1.1 ล้านคัน เด้งรับครม.ออกมาตรการ “EV3.5”
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 163,337 คัน ลดลง 14.10% จากพฤศจิกายน 2565 จากฐานปีที่แล้วที่สูงจากการได้รับเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ 11 เดือนแรก (มกราคม – พฤศจิกายน 2566) อยู่ที่ 1,708,042 คัน ลดลง 0.98% ซึ่งทั้งปี 2566 คาดการณ์ว่าการผลิตจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 1,850,000 คัน โดยมาจากการส่งออกที่คาดว่าทั้งปีอาจจะอยู่ที่ 1,100,000 คันซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะอยู่ที่ 1,050,000 คัน
ทั้งนี้การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 99,609 คันเพิ่มขึ้นจากพฤศจิกายน 2565 คิดเป็น13.22% จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังดีทำให้ส่งออก 11 เดือนแรกอยู่ที่ 1,027,234 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.59% โดยมีมูลค่าการส่งออกกลุ่มรถยนต์ 11 เดือนทั้งสิ้น 888,455.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.25% และเมื่อรวมกับการส่งออกรถจักรยานยนต์มีมูลค่า 955,796.49 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.94%
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2566 มีทั้งสิ้น 61,621 คัน เพิ่มขึ้นจากพฤศจิกายน 2565 คิดเป็น 9.76 % เพราะยอดขายรถกระบะลดลงถึง 38.8% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพราะหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลให้ 11 เดือนยอดขายอยู่ที่ 707,454 คันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.71% อย่างไรก็ตามคงจะต้องติดตามยอดขายในเดือนธันวาคมซึ่งมียอดจองรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Expo 2023) ที่ผ่านมาจำนวนมากพอสมควรว่าจะทำให้เป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจะเป็นไปตามเป้าที่ 800,000 คัน หรือไม่
โดย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปี 2567 คงต้องรอสรุปตัวเลข ธันวาคม อีกครั้งจึงจะพอเห็นภาพที่ชัดขึ้น ซึ่งหากประเมินเบื้องต้นตามเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่หลายส่วนคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3-3.5% จึงคาดว่ายอดขายรถยนต์น่าจะเติบโตในอัตราเดียวกัน โดยสัดส่วนของอีวียังจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการ EV3.5 ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและนักลงทุนขานรับทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น จากที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจคาดว่าจะเห็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยสำหรับรอบนี้ประมาณช่วงปี 2568-2570 เป็นต้นไป ซึ่งจะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค (ฮับ) ทั้งการผลิต ICE และ อีวี
“มาตรการนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้ลงทุนและผู้ใช้ ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนการลงทุนของแต่ละบริษัท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์หรือกลุ่มที่ทำสถานีชาร์จรถไฟฟ้า อีกทั้งมาตรการนี้จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่ลดลงไปได้อีก เพราะรัฐสนับสนุนอยู่ไม่เกิน 100,000 บาท/คัน ก็จะทำให้ดีมานด์รถไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยหลักต่อการจับจ่ายใช้สอย และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่เชื่อว่ากลุ่มรถไฟฟ้าจะไปต่อได้ เทียบกับกลุ่มรถกระบะเพราะกลุ่มซื้อรถไฟฟ้ามีกำลังซื้อมากกว่า” นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย