PTT ส่อกำไรวูบ 3 หมื่นล้าน สังเวยสูตรราคาก๊าซใหม่ ดีเดย์ 1 ม.ค. 67

ผวา! รัฐปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ใหม่ เริ่ม 1 ม.ค. 67 ปตท.กระทบหนัก ต้องซื้อก๊าซฯ ราคา Pool Gas เท่าโรงไฟฟ้า จากเดิมใช้ราคาอ่าวไทย ที่แพงกว่าเกือบเท่าตัว ส่งผลกระทบกำไรปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท จากต้นทุนพุ่งพรวด ส่วนหุ้นโรงไฟฟ้ารับประโยชน์ราคาก๊าซฯ มีโอกาสลดลง หากโรงแยกก๊าซฯ 6 แห่ง ลดกำลังผลิตเพื่อเลี่ยงขาดทุน ทำให้มีก๊าซฯ ส่วนเกินราคาต่ำเข้าสู่โรงไฟฟ้า ล่าสุด shortfall ส่อกระทบกำไร PTT ปีหน้าประมาณ 4.8%


แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า จากกรณีวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566

โดยแนวทางการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ คือปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้า-ออกโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จากเดิมใช้ราคา Gulf Gas (ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น) ให้เปลี่ยนเป็นใช้ราคา Pool Gas หรือราคาเฉลี่ยของก๊าซฯ อ่าวไทย, เมียนมา และ LNG รวมกัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ดังกล่าว มีผลทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนราคาก๊าซฯ เท่ากับโรงไฟฟ้า และผู้ใช้ก๊าซฯ อื่น ๆ ในระบบ ทำให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม ระหว่างผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม แต่โครงสร้างราคาก๊าซฯ ใหม่อาจทำให้ส่วนต่างกำไร (Margin) โรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ

เบื้องต้นมีการประเมินว่าส่วนต่างกำไรโรงแยกก๊าซธรรมชาติจะลดลงประมาณปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงแยกก๊าซฯ มีการขายผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น ก๊าซอีเทน (C2), ก๊าซโพเพน (C3) และก๊าซบีเทน (C4) ให้กับโรงงานปิโตรเคมี ด้วยราคาตลาด (ไม่ได้อ้างอิงจากต้นทุนการผลิต) ขณะที่โรงแยกก๊าซฯ มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากตัวเลขงบการเงินปตท.งวด 9 เดือน ปี 2566 (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2566) ในเฉพาะกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พบว่ารายได้จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 504,895 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อมฯ (EBITDA) 48,524 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 33,734 ล้านบาท ขณะที่งวดปี 2565 พบว่าปตท.มีรายได้จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 708,852 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อมฯ (EBITDA) 61,207 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 42,905 ล้านบาท

ข้อมูลจากเว็บไซต์ปตท. ระบุว่า ปตท.เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น 6 หน่วย เพื่อแยกสารประกอบไฮโดคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ออกจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1-3, 5 และ 6 ตั้งอยู่ที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 ตั้งอยู่ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของปตท.มีความสามารถแยกก๊าซธรรมชาติตามค่าการออกแบบ (Nameplate Capacity) ได้ รวม 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแบ่งเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1 กำลังผลิต 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 2 และ 3 (รวมส่วนที่ได้เพิ่มจากโรงแยกก๊าซอีเทน) กำลังผลิต 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 กำลังผลิต 230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 กำลังผลิต 530 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 กำลังผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ปตท.มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงแยกก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของปตท. มีความสามารถแยกก๊าซธรรมชาติสูงสุดได้จริง (Processing Capacity) ได้รวมประมาณ 2,870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐมีแผนที่จะปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่เข้า-ออกโรงแยกก๊าซฯ จากเดิมใช้ราคา Gulf Gas (ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น) ให้เป็นราคา Pool Gas (ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยจากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอนจี) นั้น จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อย่างมีนัยสำคัญ หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

โดยปัจจุบันราคา gulf gas เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ ราคา pool gas อยู่ที่ประมาณ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งแตกต่างกันเกือบเท่าตัว ดังนั้นหากโรงแยกก๊าซฯ ของปตท.ทั้ง 6 แห่ง จะต้องซื้อก๊าซฯ ในราคาที่แพงขึ้นในปี 2567 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย และมีโอกาสสูงที่ปตท.จะลดกำลังการผลิตลง เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ของปตท.ปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น 1.ก๊าซมีเทน (C1) สัดส่วน 25% ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง เรียกว่าก๊าซธรรมชาติอัด สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ 2.ก๊าซอีเทน (C2) สัดส่วน 25% ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น สามารถนำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกชนิดต่าง 3.ก๊าซโปรเทน (C3) และ 4.ก๊าซบิวเทน (C4) เมื่อนำมารวมกันก็จะได้ LPG รวมกันมากกว่า 50%

ทั้งนี้ หากโรงแยกก๊าซฯ ลดกำลังผลิต LPG อาจจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อชดเชยกำลังผลิตภายในประเทศที่หายไป  ซึ่งจะทำให้ราคา LPG ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนของ PTTGC จะสูงขึ้นด้วย จากเดิมที่ได้ก๊าซญ ในราคา Gulf Gas เปลี่ยนมาเป็น Pool Gas ที่สูงกว่ามากระทบผลการดำเนินงานของบริษัทในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ส่วนของโรงไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ เนื่องจากจะมี Gulf Gas ส่วนเกินเพิ่มขึ้นหลังจากโรงแยกก๊าซฯ ของปตท.ลดกำลังการผลิตลง ส่งผลต่อราคา Pool Gas ที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตของโรงไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ต้องการให้นำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติดังกล่าวมาช่วยลดค่าไฟฟ้างวดม.ค-เม.ย. 2567 ไม่ให้เกิน 4.20 บาท/หน่วย ทั้งนี้หากนำค่าปรับการขาดส่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 4.3 พันล้านบาท มาลดค่าไฟฟ้า คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรปี 2567 ของ PTT ประมาณ 4.8% หรือคิดเป็น EPS ประมาณ 0.15 บาท มองเป็นลบต่อ PTT ในช่วงสั้น จากโอกาสที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว คงคำแนะนำ “ถือ” ด้วยราคาเป้าหมาย 34.70 บาท

นายสุวัฒน์ สินสาฎก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติของภาครัฐว่า จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของโรงแยกก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ทั้ง 6 แห่ง ทำให้การส่งมอบก๊าซฯ ไปยังบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนของปตท.จะส่งผลกระทบต่อกำไรประมาณ 3-4% ต่อปี ขณะที่ PTTGC จะกระทบต่อกำไรประมาณ 10% ต่อปี

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ใช้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน ประเมินส่วนนี้จะใช้งบกลางมาบริหารคาดว่าใช้เงินประมาณ 1,950 ล้านบาท ส่วนด้านค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มอื่นกำหนดให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ยังอยู่ระหว่างรอการกลับไปทบทวนสมมติฐานปริมาณแลราคาก๊าซฯ ของ PTT, การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ, การให้กฟผ.แบกรับภาระคงค้างเพิ่ม และนำส่วนลดค่าก๊าซฯ จำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซฯ ในอ่าวไทย (Shortfall) มาช่วยลดราคาก๊าซฯ

ทั้งนี้ มอง Negative ต่อมติครม. ในการคุมราคาพลังงาน มองกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มีความเสี่ยงจะได้รับผลเชิงลบ ส่วนด้านกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ขายไฟลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) อย่างบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ยังต้องรอข้อสรุปราคาก๊าซฯ ก่อน

โดยส่วนของ PTT มองมีความเสี่ยง downside หากสุดท้ายต้องยอมส่งค่า shortfall ประมาณ 4,300 ล้านบาท ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งจะคิดเป็น downside ต่อกำไรปกติปี 2567 (1.3 แสนล้านบาท) ลดลงประมาณ 3.3% รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยทุก ๆ 1 พันล้านบาท จะเป็น downside ประมาณ 0.8% ทั้งนี้ทาง PTT อยู่ระหว่างอุทธรณ์ประเด็นการให้ค่า shortfall กับภาครัฐ

สำหรับ PTTGC หากสุดท้ายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ เกิดขึ้นจริง โดยเปลี่ยนไปใช้ราคา pool ที่มีการปรับใหม่ เทียบกับปัจจุบันที่ใช้ราคาก๊าซฯ อ่าวไทย (Gulf gas) จะทำให้ต้นทุนก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้เกิด downside ต่อกำไรอย่างมีนัยสำคัญ ทุก ๆ 1 พันล้านบาท กระทบกำไรปกติปี 2567 ลดลงประมาณ 12%

นอกจากนี้ มองโอกาสที่บทสรุปการลดค่าไฟฟ้า จะออกมาในรูปแบบที่ให้ PTT ช่วยแบกส่วนต่างราคาก๊าซฯ ต่อในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จะมีโอกาสสูงกว่าการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ เพราะการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ต้องมีการปรับสัญญากับเอกชน (ภาคอุตสาหกรรมนอกเหนือจากกลุ่มปิโตรเคมี) ซึ่งอาจไม่ทันกับการบังคับใช้ค่าไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2567 และวิธีนี้สุดท้ายเป็นเพียงการโยกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าไปที่ค่าครองชีพด้านอื่นของประชาชนแทน (ต้นทุนของสินค้าอุปโภคบริโภค)

Back to top button