NUSA แจงไม่ได้รับแจ้งเหตุ “บอร์ด” ถูกฟ้อง คดีขายสินทรัพย์หมื่นล้าน
NUSA แจงไม่ได้รับแจ้งกรณีบอร์ดบางรายถูกฟ้องขายทรัพย์สินบริษัทหมื่นล้านบาท จากศาลยุติธรรม ย้ำวาระเสนอขอมติบอร์ดขายทรัพย์สินจริง หลังบริษัทมีภาระขาดทุนสะสมกว่า 3.4 พันล้านบาท และต้องจัดเตรียมสภาพคล่องรองรับภาระหนี้หุ้นกู้ 2.5 พันล้านบาท เพื่อจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากกรณีมีข่าวกรรมการบริษัทบางรายถูกฟ้องร้องกรณีขายทรัพย์สินบริษัทฯ
โดยขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทหรือกรรมการบริษัทที่ถูกอ้างถึงในข่าวยังไม่ได้รับแจ้งรายละเอียดแห่งคดี หรือนัดหมายสอบถามจากศาลยุติธรรมแต่อย่างใดทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มีวาระพิจารณาลงมติอนุมัติหลักการ
สำหรับการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทฯ จริง โดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณาในวาระดังกล่าว ดังนี้
ข้อ 1 ปัจจุบันอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าบัญชีของบริษัท อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 40 ขณะที่ทรัพย์สินของบริษัทเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Asset) โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปกติจะมีระดับราคาปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่ได้มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในราคาตลาด เนื่องจากภาระภาษีจากการประเมินทรัพย์สินจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขหุ้นกู้ของบริษัทฯ
ข้อ 2 ปัจจุบันบริษัทฯ มีหุ้นกู้ที่จัดเป็นหนี้สินหมุนเวียนประมาณ 1,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาวประมาณ 1,500 ล้านบาท ฝ่ายบริหารซึ่งได้ติดตามภาวะตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด พบว่านักลงทุนในตลาดหุ้นกู้มีความอ่อนไหวต่อข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นฝ่ายริหารฯ จึงเห็นควรจัดเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอน นอกจากนั้นการขายทรัพย์สินใดๆ โดยปราศจากการวางแผนล่วงหน้า จะทำให้มีอำนาจต่อรองเรื่องราคาและเงื่อนไขการขายอย่างจำกัด
ข้อ 3 มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์พื้นฐาน คือ(1) ราคาจำหน่ายต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (2) การจำหน่ายทรัพย์สินต้องดำเนินการโดยเปิดเผย มีการเปรียบเทียบราคาเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด (3) มูลค่าการจำหน่ายทรัพย์สินมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการชำระหนี้ บริหารเงินทุนหมุนเวียน โดยจะไม่มีการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไปลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ หรือโครงการใหม่ (4) กรณีได้ผู้สนใจซื้อทรัพย์สิน ทางฝ่ายบริหารจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อ 4 ปัจจุบันบริษัทฯ มีขาดทุนสะสมประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนสะสมบางจำนวนจะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี2567 การจำหน่ายทรัพย์สินในราคาที่สูงกว่ามูลค่าบัญชี จะทำให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด
สำหรับรายละเอียดของทรัพย์สิน ที่ถูกระบุในวาระพิจารณาคณะกรรมการบริษัทข้างต้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 6 รายการ ดังนี้
ทั้งนี้ภาระหนี้สินโดยตรงของสินทรัพย์รายการต่างๆ ข้างต้น มียอดรวมประมาณ 2,672 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละประมาณ 47 ของยอดรวมภาระหนี้สินของบริษัท ซึ่งฝ่ายบริหารประเมินค่าเฉลี่ยของการจำหน่ายสินทรัพย์เพื่อจัดการภาระหนี้สินทั้ง 6 รายการ เมื่อเทียบกับราคาตลาดของทรัพย์สินข้างต้นอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 35 สะท้อนถึงสถานะการเงินของบริษัทฯ ที่มีความมั่นคง เพราะมียอดรวมทรัพย์สินที่มีตัวตนสูงกว่าภาระหนี้สินโดยรวมอย่างมาก โดยในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการเติบโตในยอดทรัพย์สินประมาณร้อยละ 50
นอกจากนี้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการหุ้นกู้ โดยไม่มีการผิดนัดชำระหนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียวด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ จึงขอชี้แจงว่า ข่าวกรรมการบริษัทบางรายถูกฟ้องร้องกรณีขายทรัพย์สินบริษัทฯ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวอธิบายข้างต้น