PTT ทุ่มงบเฉียด 9 หมื่นล้าน ลงทุน 5 ปี เน้นก๊าซธรรมชาติ-EV ครบวงจร

บอร์ด PTT ไฟเขียวทุ่มงบ 8.92 หมื่นล้านบาท ลงทุน 5 ปี(67-71) เน้นโรงแยกก๊าซธรรมชาติ-EV ครบวงจร วงเงินเกือบ 6 หมื่นล้าน พร้อมไฟเขียวขายหุ้น GRP สัดส่วน 50% มูลค่า 1.27 พันล้าน ให้ GRSC เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานหมุนเวียน “กลุ่ม ปตท.” บรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 73 คาดดำเนินการเสร็จภายในไตรมาส 2/67 พ่วงเคาะเปลี่ยนชื่อบริษัทย่อย “อัลฟ่า คอม” เป็น “เอ็กซ์เพรสโซ เอ็นบี”


บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ PTT (ปตท.) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567 -2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

ทั้งนี้ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณร้อยละ 51 โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with future energy and beyond” นั้น ปตท. ยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ,โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus, โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

นอกจากนี้ปตท. ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าอีกจำนวน 106,932 ล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อีกทั้งขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์(Life science) ซึ่งรวมถึงธุรกิจยา,ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์ และการวินิจฉัยทางการแพทย์ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้น บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยอนุมัติให้บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ขายหุ้นสามัญของ GRP (บริษัทย่อยที่ PTTGM ถือหุ้นร้อยละ 50) ให้แก่ บริษัท โกลบอลรีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 จำนวน 10,007,500 หุ้น (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50) มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมมูลค่าการซื้อขายหุ้นทั้งประมาณ 1,275 ล้านบาท

ทั้งนี้การซื้อขายหุ้น GRP ดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์เมื่อเงื่อนไขบังก่อนตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้น GRP สำเร็จครบถ้วน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการซื้อขายหุ้นเป็นต้น หรือได้รับการผ่อนผันเป็นลายลักษณ์อักษรจากคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องหากมีเงื่อนไขบังคับก่อนใดไม่ครบถ้วนและคาดว่าจะดำเนินการซื้อขายหุ้น GRP แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นแล้วเสร็จ GRP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.

โดยวัตถุประสงค์ในการขายหุ้น GRP ครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม ปตท. ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม ปตท. ในการผลักดัน GPSC ให้เป็นบริษัทแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. (PTT Group’s Power Flagship) และเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ โดยการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และบุคลากร เพิ่มความคล่องตัวในการลงทุน และขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเพื่อให้กลุ่มปตท. บรรลุเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท ปตท.ยังมีมติอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อบริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด (Alpha Com) เป็นบริษัท เอ็กซ์เพรสโซ เอ็นบี จำกัด (ExpresSo NB) โดย ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 ผ่าน บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่ง SMH เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.) ด้วยทุนจดทะเบียนรวมทั้งไม่เกิน 2,388.5 ล้านบาท ซึ่งยังคงวัตถุประสงค์เดิมในการประกอบกิจการด้านธุรกิจร่วมทุน (Venture Business) โดยคาดว่าจะจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทย่อยดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567

Back to top button