“หุ้นเอเชีย” เปิดบวกตาม “ดาวโจนส์” หลัง GDP สหรัฐต่ำคาด หนุนเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดบวกตามดาวโจนส์ ขานรับมุมมองเชิงบวกตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ หนุน “เฟด” ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีหน้า ขณะที่ BOU มีมติเปลี่ยนจุดยืนควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล


ตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ (22 ธันวาคม 2566) เปิดภาคเช้าบวกเป็นส่วนใหญ่ โดยเคลื่อนไหวตามทิศทางดาวโจนส์ที่ปรับตัวขึ้นเมื่อวานนี้ ขณะที่รายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนตุลาคม ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินได้หารือเกี่ยวกับวิธีการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนจุดยืนในการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

โดยดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดภาคเช้าที่ระดับ 33,257.95 จุด เพิ่มขึ้น 117.48 จุด หรือ +0.35% ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดภาคเช้าที่ระดับ 16,743.06 จุด เพิ่มขึ้น 121.93 จุด หรือ +0.73% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดภาคเช้าที่ระดับ 2,919.29 จุด เพิ่มขึ้น 0.58 จุด หรือ +0.02% ดัชนี S&P/ASX 200 ของตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้น 0.24% ซึ่งพลิกฟื้นจากการปรับตัวลงในช่วงเปิดตลาดดัชนี Kospi ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปรับตัวขึ้น 0.43% ส่วนดัชนี Kosdaq บวก 0.33%

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นชะลอตัวสู่ 2.8% ในเดือนพฤษจิกายน ลดลงจาก 3.3% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด อยู่ที่ 2.5% ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์และต่ำกว่า 2.9% ในเดือนตุลาคม

ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (21 ธันวาคม 2566) โดยขานรับมุมมองเชิงบวกที่ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 3/2566 จะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

รวมถึงดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,404.35 จุด เพิ่มขึ้น 322.35 จุด หรือ +0.87%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,746.75 จุด เพิ่มขึ้น 48.40 จุด หรือ +1.03% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,963.87 จุด เพิ่มขึ้น 185.92 จุด หรือ +1.26%

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 ของ GDP ประจำไตรมาส 3/2566 โดยระบุว่า GDP สหรัฐขยายตัว 4.9% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.1% ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 อยู่ที่ระดับ 4.9% และ 5.2% ตามลำดับ

Back to top button