“ก.ล.ต.” ชวนทำความรู้จัก “กองทุน Thai ESG” ชู 2 ขั้นตอน เพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน
“ก.ล.ต.” ชวนทำความรู้จัก “กองทุน Thai ESG” เน้น 2 ขั้นตอนสำคัญ “นโยบายการลงทุน-การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมความการลงทุนสู่ความยั่งยืนของประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกบทความชวนทำความรู้จักกับ “นโยบายการลงทุน” และ “การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน” ซึ่งเป็น 2 ขั้นตอนสำคัญที่ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนกับกองทุนรวม Thai ESG เพื่อความยั่งยืนของประเทศ ได้อย่างมั่นใจ โดยกองทุนรวม Thai ESG เป็นกองทุนรวมที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างทางเลือกในการออมระยะยาวสำหรับประชาชน
ขั้นตอนแรก “นโยบายการลงทุน” ขั้นตอนแรกของการสร้างความมั่นใจ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้กองทุนรวม Thai ESG ต้องเน้นลงทุนในทรัพย์สินของผู้ออกที่เป็นภาครัฐหรือกิจการไทยที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Environment, Social, Governance : ESG) ของประเทศ โดยแบ่งประเภททรัพย์สินที่สามารถลงทุนได้ ออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามผลการประเมินหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) โดยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมิน SET ESG Ratings ระดับ AAA จำนวน 34 บริษัท ระดับ AA จำนวน 70 บริษัท ระดับ A จำนวน 64 บริษัท และระดับ BBB จำนวน 25 บริษัท รวมทั้งสิ้น 193 บริษัท
ทั้งนี้ ตลท. ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน ESG ซึ่งจะร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกและผลการประเมิน SET ESG Ratings เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตลอดกระบวนการ นอกจากนี้จะพิจารณาคัดรายชื่อบริษัทจดทะเบียนออกจาก SET ESG Ratings กรณีบริษัทมีข่าวด้านลบเกี่ยวกับประเด็น ESG ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหรือมีการกล่าวโทษจากหน่วยงานราชการ ซึ่งส่งผลให้บริษัทไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่ง
ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่า กองทุนรวม Thai ESG จะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระแล้วว่า มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีความอย่างยั่งยืน
กลุ่มที่ 2 หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET หรือ mai ที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) แผนการจัดการและการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อย GHGs ของประเทศไทยเพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า บริษัทจดทะเบียนที่กองทุนรวม Thai ESG ลงทุน จะมีส่วนช่วยลดการปล่อย GHGs ของประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHGs และเป้าหมายการลด จะต้องจัดให้มี ผู้ทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยที่ผู้ทวนสอบอาจเป็นองค์กรที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล เพื่อที่ผู้ทวนสอบจะได้ติดตามผลและคำนวณปริมาณ GHGs ที่บริษัทลดลงได้ ซึ่งทำให้การเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHGs มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
กลุ่มที่ 3 ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) หรือตราสารส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability – linked bond) ผู้ออกตราสารที่เป็นบริษัทเอกชนไทยจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนของประเทศไทย เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน เป็นต้น และตราสารดังกล่าวต้องผ่านการอนุญาตออกและเสนอขายจาก ก.ล.ต. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ออกจะมีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับด้านความยั่งยืน สอดคล้องตามมาตรฐานสากล
กลุ่มที่ 4 พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) หรือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability – linked bond) ซึ่งออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจไทยที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตราสารที่ออกโดยภาคเอกชน วัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากออกพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังค้ำ จะต้องใช้ในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนของประเทศไทย เช่น การลงทุนในโครงการขนส่งพลังงานสะอาดที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน การลงทุนพัฒนาพื้นที่และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น
กลุ่มที่ 5 โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) ที่ออกตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะต้องเป็นโทเคนดิจิทัลสำหรับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green-project token) หรือ โทเคนดิจิทัลสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน (sustainability-project token) หรือ โทเคนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked token) ซึ่ง ก.ล.ต. จะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และประกาศให้ทราบต่อไป
ขั้นที่สอง “การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน” ขั้นตอนที่สองเพื่อความโปร่งใส มั่นใจได้ว่าลงทุนแบบรักษ์โลก โดย ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารจัดการกองทุนรวม Thai ESG ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ของ “กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainable and Responsible Investing Fund (SRI Fund) เช่น วัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน นโยบายและกลยุทธ์การบริหารจัดการลงทุนอย่างยั่งยืน กระบวนการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองทุนรวม Thai ESG ที่มีนโยบายการลงทุนเดียวกันได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ บลจ. จะต้องรายงานผลการบริหารจัดการลงทุนอย่างยั่งยืนทุกรอบระยะเวลา 6 เดือนและรอบระยะเวลาบัญชี ให้ผู้ลงทุนทราบด้วย ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า ผู้จัดการกองทุนจะมีการบริหารเงินลงทุนอย่างยั่งยืนแบบโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
อนึ่ง ก.ล.ต. หวังว่าเมื่อผู้ลงทุนรู้จักและเข้าใจกองทุนรวม Thai ESG จะสามารถลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนรวมดังกล่าวได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น และอย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันผู้ลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับ “การลงทุนเพื่อความยั่งยืน” มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG เป็นความเสี่ยงทางการเงิน (financial risk) ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท โดยหลายประเทศได้มีการกำหนดราคาการปล่อยคาร์บอนผ่านกลไกภาษี หรือข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งหากธุรกิจที่ไม่ปรับเปลี่ยน ก็จะมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ บางประเทศได้ให้การสนับสนุนมาตรการภาษีแก่ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย จนนำไปสู่การพัฒนา กองทุนรวม Thai ESG นี้ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน โดยมาตรการดังกล่าวจะสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้ภาคเอกชนในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของประเทศ อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้สามารถเป็นทรัพย์สินที่กองทุนรวม Thai ESG ลงทุนได้ อีกทั้งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี ค.ศ. 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ต่อไป