นโยบายรัฐปี 67 หนุน “แบงก์” โบรกชู BBL-KTB รับสินเชื่อ-NIM ขยายตัว
บล.บัวหลวง คาด 7 แบงก์รับประโยชน์นโยบายรัฐปี 67 ต่อเนื่อง พร้อมคาดกำไรสุทธิเติบโต 8% จากช่วงปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากการปล่อยสินเชื่อและการขยาย NIM ชอบหุ้น BBL- KTB มากที่สุดในกลุ่ม
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ (26 ธ.ค. 66) ว่าธนาคารไทยจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2567 คาดการณ์เติบโต GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 3.8% รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะได้รับแรงหนุนโดยตรงจากมาตรการกระตุ้นใหม่ เช่น โครงการ Easy E-Receipt และทางอ้อมจากการท่องเที่ยวขาเข้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 โครงการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะใหม่มูลค่า 5.51 แสนล้านบาท มีกำหนดเปิดประมูลในไตรมาส 4/2566 ถึง 2567 จากปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้อุปสงค์เงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อ ขยายตัวขึ้น
นอกจากนี้ ประเมินในส่วน Net Interest Margin (NIM) ในปี 2567 ของกลุ่มธนาคารอาทิเช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (ธนาคารกรุงเทพ มหาชน) หรือ KKP, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB คาดการณ์ว่าส่วนของ NIM ผลรวม 3.47% เพิ่มขึ้น 0.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยอัตราการซื้อคืนพันธบัตรหนึ่งวันของ BOT ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 9 ปี โดยมองว่าอัตราการซื้อคืนถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ยังคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับเดิมไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2567
ทั้งนี้ส่วนของ NIM เฉลี่ยของ 7 ธนาคาร แนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/2566 และคงระดับดังกล่าวไว้จนถึงครึ่งแรกของปี 2567 จากนั้นจะค่อยปรับตัวลดลงเล็กน้อยในครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เมื่อเงินฝากประจำระยะยาวครบกำหนด ลูกค้าธนาคารจะนำไปลงทุนซ้ำในเงินฝากประจำแบบใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ 7 ธนาคาร จะยังคงปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วขึ้นและการคัดกรองการขอสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดมากขึ้น (ตั้งแต่ปี 2566) โดยคาดการณ์ว่าอัตราการตั้งสำรองของ 7 ธนาคารนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.52% ในปี 2567 ลดลง 2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสัดส่วนหนี้สินด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ 7 ธนาคารเฉลี่ยลดลงจาก 2.99% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มาอยู่ที่ 2.95% และ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 และในอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้เสียของ 7 ธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 181.0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มาอยู่ที่ 187.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ดี
นอกจากนี้ ราคาหุ้นอยู่ในระดับไม่แพง โดยทางฝ่ายนักวิเคราะห์ชอบ BBL และ KTB ซึ่งได้มีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารจาก “มากกว่าตลาด” เป็น “เท่ากับตลาด” เชื่อมั่นว่าอัตราการซื้อคืนพันธบัตรหนึ่งวันของ BOT ถึงจุดพีคแล้ว และได้คาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิของ 7 ธนาคารจะชะลอตัวลงสู่ระดับปกติที่ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2567 (ประมาณการการเติบโตของกำไรของ 7 ธนาคารในปี 2566 อยู่ที่ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)
ขณะที่ธนาคารทั้ง 7 แห่งที่ทางนักวิเคราะห์ให้คำแนะนำรายงาน PER ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.4 เท่า และ PBV ณ สิ้นปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.8 เท่า ในขณะที่คาดการณ์ว่า ROE ปี 2567 อยู่ที่ 8.9% ส่งผลให้อัตราส่วน PBV/ROE อยู่ที่ 0.072 ซึ่งถือว่าถูก อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยจะมากกว่า 5% ในปี 2567