ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ “ต่างชาติ” ออก-ขายบอนด์ในไทย
ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์การอนุญาตออก-เสนอขายตราสารหนี้ในประเทศไทย สำหรับกิจการต่างประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของผู้ออก สอดคล้องกับบริบท-สภาพแวดล้อม มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศไทย โดยกิจการต่างประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของผู้ออก ซึ่งเป็นกิจการต่างประเทศ รวมถึงสอดคล้องบริบทและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้
(1) กำหนดให้กิจการต่างประเทศที่ประสงค์จะขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย (Baht Bond) สามารถยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. ได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีการยื่นคำขออนุญาตจากกระทรวงการคลังก่อน
(2) ปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond โดยมีข้อกำหนด ได้แก่ 1) ต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (issue rating) โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (international CRA) 2) ต้องได้รับ issue rating ไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) 3) กำหนดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และ
4) นำตราสารหนี้ที่เสนอขายไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
ทั้งนี้ สำหรับผู้ออกรายเดิมที่จะชำระหนี้ตราสารหนี้คงค้าง (roll-over) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เรื่องการได้รับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่ไม่ต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ ก.ล.ต. ได้กำหนดแนวทางการผ่อนผันเป็นการชั่วคราวสำหรับการขออนุญาตของผู้ออกกลุ่มนี้ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ออก ผู้ลงทุน และความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้
(3) การปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายหลักเกณฑ์การออก และเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย หรือ FX Bond ของกิจการต่างประเทศให้เป็นลักษณะเดียวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond
ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป