แย้ม 8 หุ้นรับประโยชน์ Easy E-Receipt
เปิดโผ 8 หุ้นรับประโยชน์มาตรการ Easy E-Receipt เน้นกลุ่มค้าปลีก, ท่องเที่ยว, ผู้ค้าส่งไอที และกลุ่มสินเชื่อและบัตรเครดิต นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 67 รวมระยะเวลา 46 วัน ตามจำนวนที่จ่ายจริงหนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
เริ่มแล้วมาตรการ “Easy E-Receipt” เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 โดยผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 46 วัน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
ส่วนกรณีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
ขณะที่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ไม่ร่วมมาตรการ Easy E-Receipt มีดังนี้ 1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 2) ค่าซื้อยาสูบ
3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และ 6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันที15 ก.พ. 2567
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่ากลุ่ม Home improvement และผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกซ์ และกลุ่ม IT จะได้ผลบวกมากสุด โดยมองบวกต่อโครงการ Easy e-Receipt ที่จะช่วยหนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันประเมินว่ากลุ่มค้าปลีกที่มี basket size ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม Home improvement และผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกซ์และ IT จะได้ผลบวกมากสุด จากระยะเวลาโครงการที่ให้สามารถใช้จ่ายได้ไม่ได้นานมากรวมทั้งสิ้น 46 วัน แต่มีการให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีในปี 2567 ที่สูงขึ้นเป็น 50,000 บาท (ส่วนในปี 2566 อยู่ที่ 40,000 บาท, และในปี 2565 อยู่ที่ 30,000 บาท
สำหรับกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ได้ผลบวกจากค่าที่พักโรงแรมสามารถนำมาหักภาษีได้ ส่วน CENTEL กับ MINT จะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
รวมถึงกลุ่มผู้ค้าส่งไอที ได้แก่ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX, บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS ได้ผลบวกเล็กน้อย เนื่องจากมีร้านค้าของผู้ค้าปลีกรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียน e-VAT ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ e-Receipt ได้
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินเชื่อและบัตรเครดิต ได้แก่ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ได้ผลบวกเล็กน้อยจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น