“FSSIA” แนะซื้อสะสม 9 หุ้น “บิ๊กแคป” รับปีมังกรทอง
“FSSIA” ประเมินเป้าหมาย SET ปี 67 แตะ 1,520 จุด ลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจไทยเติบโต รับมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นตัว แนะนำซื้อสะสม AOT, BCH, CPALL, CPN, GPSC, MINT, SJWD, TIDLOR, TU เป็นหุ้นท็อปพิกปีมังกรทอง!
บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67 โดยประเมินว่าตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ในปี 2567 จะเกิด January Effect หลังจากที่ปรับตัวลงอย่างหนักถึง 15% ในปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลในอดีตย้อนกลับไป 10 ปีจะพบว่า SET Index มีโอกาส 70% ที่จะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 1.28% ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเห็นการฟื้นตัวระยะสั้น นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในไตรมาส 4/2566 และยังมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐใหม่ๆที่ออกมา ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น
โดยเชื่อว่าตลาดรับรู้ปัจจัยเชิงบวกเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดราว 5-6 ครั้งไปแล้ว รวมถึงการ Soft Landing เห็นได้จากดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้น 16% จากจุดต่ำสุดในเดือนตุลาคม และยังสูงขึ้นถึง 25% ในปี 2566 และยังมีส่วนต่างระหว่างปันผลของหุ้น และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Earnings Yield Gap) ที่ต่ำในระดับ 1.2%
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในครึ่งปีแรกเป็นอย่างต่ำ โดยภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้อันเนื่องมาจากค่าไฟที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ
ต่อมา FSSIA มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย และคาดการณ์ว่าการเติบโต GDP จะแข็งแกร่งตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป ซึ่งสภาพัฒน์ และธปท คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.2% ในปีนี้หากยังไม่รวมผลบวกจากดิจิทัลวอลเล็ต โดยแรงผลักดันหลักๆจะมาจากภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการฟื้นตัวทางการส่งออก และท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองเชิงลบเล็กน้อยสำหรับผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์สำหรับไตรมาส 4/2566 โดยคาดการณ์ว่าธนาคาร 7 แห่งที่ได้วิเคราะห์ไปนั้น จะมีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท (ลดลง 10.7% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 36.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) โดยการลดลงเมื่อเทียบเป็นไตรมาสนั้นจะมาจากค่าใช้จ่าย และ ECL ที่สูงเป็นปกติในไตรมาส 4/2566
ขณะที่การเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น มาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, NIM ที่สูงขึ้น และการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเล็กน้อย โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จะเป็นสองหุ้นหลักที่มีผลงานที่ดีที่สุดในกลุ่ม ส่วน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP คาดการณ์ว่าจะมีผลงานอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ กำไรปี 2566 ทั้ง 7 ธนาคารรวมกันคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ FSSIA คาดการณ์กำไรไตรมาสที่ 4/2566 ของทั้ง 7 ธนาคารดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กำไรอยู่ที่ 10,759 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 42.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กำไรอยู่ที่ 10,186 ล้านบาท ลดลง 9.7% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 219.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กำไรอยู่ที่ 533 ล้านบาท (ลดลง 58.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง62.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กำไรอยู่ที่ 8,503 ล้านบาท ลดลง 17.3% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กำไรอยู่ที่ 8,890 ล้านบาท ลดลง 8.0% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น24.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO กำไรอยู่ที่ 1,816 ล้านบาท ลดลง 3.1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 0.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB กำไรอยู่ที่ 4,367 ล้านบาท ลดลง 7.8% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น13.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับเป้าหมาย SET Index ปี 2567 FSSIA ประเมินไว้ที่ 1,520 จุด (EPS 95 บาท / PER 16 เท่า) โดยมองว่ามูลค่าขณะนี้มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยซื้อขายอยู่ที่ 14.9 เท่า PER ปี 2567 และมี Earnings Yield Gap อยู่ที่ 4% ซึ่งระดับดัชนีที่ 1,400 จุด นั้นมองว่ามีดาวน์ไซด์ที่ต่ำ และเป็นจังหวะดีในการ “ซื้อสะสม”
สำหรับหุ้นท็อปพิกของปี 2567 คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ราคาเป้าหมายที่ 76 บาท, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ราคาเป้าหมายที่ 24.50 บาท, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ราคาเป้าหมายที่ 77 บาท, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ราคาเป้าหมายที่ 82 บาท, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ราคาเป้าหมายที่ 59 บาท,
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ราคาเป้าหมายที่ 43 บาท, บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ราคาเป้าหมายที่ 21.50 บาท , บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ราคาเป้าหมายที่ 28 บาท และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ราคาเป้าหมายที่ 18 บาท