โบรกมองเศรษฐกิจปี 67 โต 3.4% แนะลงทุน BBL-KBANK รับปันผลเด่น

โบรกมองเศรษฐกิจปี 67 เติบโต 3.4% รับผลักดันลงทุนในประเทศ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย หนุนเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังฟื้น แนะลงทุน BBL-KBANK อาจปรับเพิ่มอัตราจ่ายปันผล และจากการที่พันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงช่วงไตรมาส 4/66 ทำให้อัตราปันผลตอบแทนมีความน่าดึงดูดที่มากขึ้น


บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UBS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม กลับมีมุมมองเชิงลบอย่างมากต่อกลุ่มธนาคารในประเทศไทย จากความกังวลทั้งเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ ต้นทุนการกู้ยืม รวมถึงการเติบโตของกำไรที่ชะลอตัว โดยปรับคำแนะนำลดลงรวดเดียวสองระดับ จากเดิมอยู่ที่ Overweight (ซื้อ) เป็น Underweight (ขาย)

ด้านภาพรวมของประเทศ UBS คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.4% ในปี 2567 จากในปี 2566 อยู่ที่ 2.4% ผลักดันโดยการลงทุนในประเทศ และการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่พื้นตัว นอกจากนั้นแล้ว การเห็นชอบงบประมาณประจำปี และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มธนาคาร UBS คาดการณ์ว่าจะเห็นการเติบโตของกำไร 3% ในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าการเติบโต 20% ในปี 2566 (รวมคาดการณ์ไตรมาส 4/2566) โดยจากคาดการณ์ของ UBS ที่มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ไว้ที่ 2.25% (ปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปีนี้) จึงส่งผลให้ NIM คาดการณ์ว่าจะสูงสุดในไตรมาส 4/2566 จนถึงไตรมาส 1/2567 และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ UBS คาดการณ์ว่าต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) จะอยู่ที่ 1.49% ในปี 2567 จาก 1.55% ในปี 2566 โดยเชื่อว่าแบงก์จะสามารถควบคุม NPL ได้ทั้งจากการยืดเวลามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการควบคุมหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเพื่อปันผลสำหรับหุ้นในกลุ่มแบงก์นั้น UBS มองว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)  หรือ TTB, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL อาจมีการปรับเพิ่มอัตราการจ่ายปันผลเพื่อลดช่องว่างของยีลด์เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ และจากการที่พันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4/2566 ทำให้อัตราปันผลตอบแทนมีความน่าดึงดูดที่มากขึ้น

สำหรับในกลุ่มแบงก์ไทย UBS มองว่า BBL และ KBANK มีความน่าสนใจที่สุดจากมูลค่า และ Credit Cost ที่เริ่มจะกลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว อย่างไรก็ตามยังคงปรับคำแนะนำของกลุ่มลงถึงสองอันดับจาก Overweight (ซื้อ) เป็น Underweight (ขาย) โดยมีความกังวลต่อความเสี่ยงมหภาค เช่นขอบเขต และช่วงเวลาการจ่ายดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืม รวมถึงความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะในปี 2568 ซึ่งจะเป็นปีที่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้หมดอายุ ส่งผลให้ UBS มองว่ามีโอกาสการลงทุนที่ดีกว่าในสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

Back to top button