“มะพร้าวน้ำหอม” ฮอตในจีน หนุนยอดขายโตต่อเนื่อง

“มะพร้าวน้ำหอมไทย” ได้รับความกระแสความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดจีน หนุนยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง


สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อากาศหนาวเย็นขึ้นทั่วจีน บนโต๊ะอาหารของหลายครัวเรือนกลับอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมจากหม้อไฟไก่อุ่นๆ ซึ่งใช้น้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นน้ำซุป

สำหรับมะพร้าวน้ำหอมจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นหอมและความหวาน ด้วยอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มะพร้าวน้ำหอมไทยจึงได้รับความกระแสความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดจีนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และถูกใช้ในการประกอบอาหารอย่างแพร่หลาย อาทิ เค้ก, กาแฟ และอาหารที่ใช้เนื้อไก่ ทำให้ยอดจำหน่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยสองปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 65 ผัก ผลไม้ สิ่งทอ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยต่างได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว การค้าภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่ม อัตราภาษีที่ลดลงตลอดจนกรอบการค้าข้ามภูมิภาคที่ได้มาตรฐาน กระตุ้นการเติบโตด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก และทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างจีน-อาเซียนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าอาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 66 ด้วยมูลค่าการค้าจีน-อาเซียนที่ 5.8 ล้านล้านหยวน (ราว 28.76 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบปีต่อปี

ยกตัวอย่างจากตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่สุดในกว่างซี ก็คับคั่งด้วยรถบรรทุกผลไม้จอดเรียงรายอยู่หน้าตลาดเพื่อรอลำเลียงสินค้า ตั้งแต่ต้นปี โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าผลไม้แห่งหนึ่ง กล่าวว่าปีนี้บริษัทฯ จะพึ่งพาช่องทางการตลาดที่หลากหลายและราคาที่ดี อันเป็นผลประโยชน์จากนโยบายความตกลงฯ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ พร้อมเสริมว่ามะพร้าวน้ำหอมไทยที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นำพาโอกาสมาให้บริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ แผนริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่คืบหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้การค้าจีน-ไทยใกล้ชิดกันมากขึ้น โอกาสจากการระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ และการบังคับใช้ความตกลงฯ ทำให้รูปแบบการค้าและการขนส่งมีความหลากหลายยิ่งขึ้น สินค้าไทยเข้าสู่ครัวเรือนทั่วจีนด้วยราคาถูกขึ้น และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ทั้งข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง ยา หมอนยางพารา ครีมกันแดด ฯลฯ

หลิวเสียง รองผู้อำนวยการสำนักพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่าการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่อด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างจีน-อาเซียน ผ่านรูปแบบและคอนเทนต์ที่หลากหลายก็มีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมา กว่างซีก็มุ่งสร้างฐานอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน ซึ่งมีเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระดับประเทศที่ได้รับการอนุมัติแล้วรวม 4 แห่ง และมีเมืองที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนำเข้าสินค้าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแล้ว 8 เมือง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าและส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณภาพ : ซินหัว

Back to top button