สธ. ห่วง PM2.5 เสี่ยงผู้ป่วยเป็น “โรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง” กว่า 2 หมื่นราย
“นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์” เผยปัญหา PM2.5 ทำผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแตะ 2 หมื่นราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าเปิด “คลินิกคุณภาพ” ให้บริการเชิงรุกลดความเสี่ยงอาการกำเริบรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (08 ม.ค. 67) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าจากข้อมูล Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เดือนพ.ย.66 พบว่าสถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้จากในปี 63-65 มีผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย แต่ในปี 66 พบผู้ป่วยสูงกว่า 20,000 ราย ขณะที่สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลให้อัตราการป่วยและอัตราการกำเริบเฉียบพลัน อีกทั้งการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น
โดยจากการประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 คาดการณ์ว่าในช่วงต้นปีนี้สถานการณ์จะยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว รวมถึงมีปัญหาหมอกควันข้ามแดนและการเผาพื้นที่ทางการเกษตร
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้มีการพัฒนา “คลินิกคุณภาพ” ที่ให้บริการโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีและเกิดคุณค่าสูงสุดในการรักษาพยาบาล อีกทั้งขยายบริการไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุกได้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังได้รับมอบอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) จากเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic: EACC) ซึ่งได้ส่งมอบไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการคัดกรองประเมินอาการเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ช่วยลดโอกาสเกิดอาการกำเริบรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หรือต้องนอนโรงพยาบาลด้วย