“โกลด์แมน แซคส์” หั่นราคาเป้า 5 แบงก์! BBL เจอหนักสุดเหลือ 164 บาท

“โกลด์แมน แซคส์” หั่นราคาเป้า 5 แบงก์! BBL เจอหนักสุดเหลือ 164 บาท พร้อมยังคงแนะนำ “ขาย” KBANK -SCB-BBL อย่างไรก็ตามยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” TTB เนื่องจาก NIM มีความอ่อนไหวต่อการปรับลดดอกเบี้ยน้อยที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โกลด์แมน แซคส์ (GS) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยประเมินหลังจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในอาเซียน ได้รับรู้ผลประกอบการเป็นขาขึ้นไปแล้วในช่วงปี 2566 และจะเริ่มเป็นช่วงขาลงในปี 2567 แต่จะมีความเร็วและความรุนแรงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ NIM เริ่มลดลงด้วยเช่นกัน โดย GS ะบุว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ฝ่ายวิเคราะห์มีการทำการวิจัยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศสุดท้ายที่จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2568 และจบลงในช่วงต้นปี 2569

โดยปรับลดคำแนะนำกลุ่มธนาคารไทยลง ทั้งนี้ระบุในบทวิเคราะห์ว่าภาพรวมแบงก์ไทยนั้นมีความน่าสนใจน้อยที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตของมูลค่าบัญชี (book value)ที่ต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 8.4% สำหรับปี 2566-2569

นอกจากนั้นมองว่าปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลในระยสั้น โดยเฉพาะในกลุ่ม SME เนื่องจากบริษัทในกลุ่มนี้ยังเห็นการฟื้นตัวที่ต่ำหลังจากช่วงโควิด และยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่กดดันจากตัวเลขหนี้ครัวเรืองสูง แม้ความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) จะอ่อนลงก็ตามแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ GS โดยมองว่าอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ของกลุ่มแบงก์ในปี 2569 จะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด

ขณะที่กลุ่มแบงก์มีเพียง ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ล่าสุดปรับราคาเป้าหมายจากเดิม 1.99 บาท เป็น 1.94 บาทเท่านั้นที่ GS ยังคงคำแนะนำซื้ออยู่ เนื่องจาก NIM มีความอ่อนไหวต่อการปรับลดดอกเบี้ยน้อยที่สุด เนื่องจากมีพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และยังมีการจ่ายผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดย TTB มีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นเพื่อดันอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ให้สูงขึ้น ซึ่ง GS คาดการณ์ว่าจะเห็นอัตราการจ่ายปันผลตอบแทนที่น่าดึงดูดอีกในปี 2567ราว 7.1%

นอกจากนั้นแล้ว การตั้งสำรองของ TTB ยังลดลงต่อเนื่อง โดยผู้บริหารของธนาคารคาดการณ์ไว้ว่า Credit Cost จะอยู่ในช่วง 1.25-1.35% และ GS มองว่าน่าจะอยู่ในระดับ 1.25-1.29% ในช่วงอีกหลายปีข้างหน้านี้จากการบริหารงบดุลอย่างรอบคอบในช่วงโควิด GS มองว่า TTB จะยังมีอัพไซด์การเติบโตของกำไรได้อีกจากการปล่อยสินเชือรายย่อยแบบมีหลักประกัน ผลักดันโดยเศรษฐกิจมหภาคที่ปรับตัวดีขึ้น NIM ที่ดี และยังมีมูลค่าที่ไม่สูงโดยค่า P/B อยู่ใกล้เคียงกับค่ากลางในอดีต

ขณะเดียวกัน GS ยังคงคำแนะนำ ขาย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยปรับราคาเป้าหมายจาก 132 บาท เป็น 128 บาทโดยมีดาวน์ไซด์จากความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์เนื่องจากมีลูกค้า SME อยู่มาก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงมากกว่าแบงก์อื่นๆ และยังมีความต้องการซื้อตราสารหนี้อย่างมาก ทั้งนี้จะสร้างแรงกดดันต่อสินเชื่อ ขณะที่คาดการณ์ว่า Credit Cost ของ KBANK จะคงอยู่ในระดับสูงที่ 2% ในปีนี้ ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มแบงก์ที่ทำบทวิเคราะห์

นอกจากนั้นแล้วคุณภาพสินทรัพย์ยังกดดัน NIM เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยจะหายไปหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า KBANK อาจะมีการปรับดอกเบี้ยเพื่อเป็นการผลักดันการเติบโตของสินเชื่อ และผ่อนคลายปัญหาคุณภาพสินทรัพย์

สำหรับ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB นั้น GS ยังคงคำแนะนำ ขาย โดยปรับราคาเป้าหมายจาก 106 บาท เป็น 101 บาท โดยระบุว่าถึงแม้ SCB จะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าต่ำแต่ยังเห็นปัจจัยกดดันอยู่จาก 1.คาดการณ์การเติบโตที่ต่ำในธุรกิจการธนาคารที่อาจส่งผลให้สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดไปได้ รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อทั้งกลุ่มโดยรวมในอนาคตด้วยเช่นกัน 2.ความเสี่ยงด้านสินเชื่อจากธุรกิจ Gen 2 และความผันผวนที่สูง

ส่วน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยปรับราคาเป้าหมายจาก 21.80 บาท เป็น 20.80 บาท โดยยังคงแนะนำ ถือ ซึ่งระบุว่า KTB นั้นซื้อขายอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ย P/B ย้อนหลัง 5 ปีซึ่งเป็นผลจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่าคาด ทั้งนี้ GS คาดการณ์ว่า Credit Cost จะอยู่ที่ 1.15-1.23% ในปี 2567-2569 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 1.33% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารายได้ดอกเบี้ยที่อ่อนแอของ KTB จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้น

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เป็นเพียงแบงก์เดียวในไทยที่ถูกปรับคำแนะนำในรอบนี้จากเดิมถือเป็น ขาย โดยปรับราคาเป้าหมายาก 190 บาท เป็น 164 บาท โดย GS ระบุว่า BBL เป็นหุ้นที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดจากจากที่มีพอร์ตสินเชื่อที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศอยู่ถึง 25% (รวม Permata ในอินโดนีเซีย) จึงทำให้มีความเสี่ยงมากที่สุดตอการหั่นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนีเซีย ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศที่สองในภูมิภาครองจากสิงคโปร์ที่จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้

ทั้งนี้การตั้งสำรองที่สูง เพื่อความรอบคอบสำหรับ BBL แม้จะมี Coverage ที่สูงเช่นกัน โดยมีอัตราเงินตั้งสำรองเผื่อหนี้จะสูญต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 9.4% ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 เทียบกับระดับ 7.3-8.5% ในช่วงก่อนโควิด ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ในกลุ่มที่อยู่ราว 5.6% และจากการตั้งสำรองที่สูง จึงทำให้ GS มองว่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันการสร้างกำไรของ BBL อยู่ในระยะสั้น โดยทุกๆ การลดลงของ Credit Cost 10bps จะทำให้ EPS เพิ่มขึ้น 5.3%

นอกจากนั้นแล้ว BBL ยังระบุว่าต้องการที่จะเพิ่มอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ให้กลับมาอยู่ในระดับ 16-17% จากระดับ 15.4% ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ซึ่ง GS เชื่อว่าจะเป็นตัวกดดัน ROE ของธนาคาร

Back to top button