ก.ล.ต. ลงดาบ 13 รายชื่อ ส่งต่อ “บก.ปอศ.-ปปง.” ฐานปั่นหุ้น FVC

ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิดรวม 13 รายชื่อ ต่อ บก.ปอศ. กรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ FVC พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ต่อปปง.


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และได้ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม ในกรณีพบพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดจำนวน 13 ราย ได้แก่

1.นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย

2.บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันชื่อบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NPP ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อย่อว่า GLOCON

3.นางสาวทิพรัตน์ สาครสุขศรีฤกษ์

4.นางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์  

5.นายวัฒนา สวัสดิ์ทอง

6.นายดนุช บุนนาค

7.นายประพล มิลินทจินดา

8.นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์

9.บริษัท พี-แซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (P-SAT)

10.นายอนุพนธ์ ศรีอาจ

11.นายกิจจพัฒน์ อิทธิฤทธานนท์

12.นางอนัญญา เรืองศักดิ์วิชิต

13.นายนัฐพล เฉลิมพจน์

สืบเนื่องจากตรวจพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันและได้เข้ามาซื้อขายหุ้นบริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC และมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะรู้เห็นหรือตกลงกัน โดยแบ่งหน้าที่กันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC สอดรับและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้น FVC ผิดไปจากสภาพปกติ ในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 31 สิงหาคม 2558 (รวม 5 วันทำการ) และวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2558 (รวม 3 วันทำการ)

ทั้งนี้ส่งผลทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น FVC ในปริมาณมากและเข้ามาซื้อขายตาม จึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 244 และมาตรา 243(2) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 244/3 และมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

นอกจากนี้ การกระทำของนายอนุพนธ์ ในฐานะผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)) ซึ่งมีอำนาจสั่งซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC ในลักษณะการสร้างราคาในช่วงเวลาดังกล่าว

เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้มอบหมายให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 134 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 133 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ รวมทั้งกรณีของนายประพล ที่ไม่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหุ้น FVC ข้ามร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ยังเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้กระทำความผิดมีรูปแบบของการกระทำเป็นขบวนการ

มีลักษณะแบ่งหน้าที่ในการส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อสร้างราคาหุ้น FVC ประกอบกับผู้กระทำความผิดหลายราย ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการกระทำผิดในหลายกรณีต่อเนื่องกันทั้งที่เป็นการทุจริตและการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทาง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าวแล้วในหลายกรณี

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้ง 13 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อีกทั้งยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เนื่องด้วยเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่งการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุน การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

Back to top button