DSI กล่าวโทษ อดีต “รมต.- ขรก.แรงงาน” เอี่ยวขบวนการค้ามนุษย์

DSI เตรียมส่งสำนวนกล่าวโทษ “อดีตรัฐมนตรี-ข้าราชการแรงงานระดับสูง” รวม 4 ราย เชื่อมโยงคดี หักหัวคิวส่ง “แรงงานไทย” ไปทำงานที่ฟินแลนด์ มูลค่าความเสียหายกว่า 36 ล้านบาท หลังพบหลักฐานโยงขบวนการค้ามนุษย์


ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (10 ม.ค. 67) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุด โดยมอบหมายให้ร่วมสอบสวนร่วมกันให้กล่าวหากับอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86

โดยจะเร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 61 ต่อไป

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเป็นผลเสือบเนื่องมาจากการที่ดีเอสไอโดยกองคดีการค้ามนุษย์ ได้สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 81/66 จากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องแรงงานไทย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในสาธารณรัฐฟินแลนด์ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในการเดินทางกลับประเทศไทย

ขณะที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่าเป็นคดีความผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งได้เสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนต่อไป

อีกทั้งอัยการสูงสุดได้มอบหมายพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวน ซึ่งมีการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากสาธารณรัฐฟินแลนด์ในความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 51 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ต่อมาทางการ สาธารณรัฐฟินแลนด์ ได้ส่งพยานหลักฐานสำคัญตามที่ทางการไทยร้องขอให้ DSI โดยจากการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และพยานหลักฐานที่ได้จากความร่วมมือระหว่างประเทศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์

ขณะที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่า “หัวคิว” หรือค่าดำเนินการเฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทประสานงานฝั่งไทยได้นำมาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริงในปี 63- 66 ซึ่งเป็นช่วงดำเนินคดี มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการ ได้มีมติกล่าวหาบุคคลดังกล่าวรวม 4 คน และจะนำส่งสำนวนคดีพิเศษดังกล่าว ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

Back to top button