“ดีอี” บุกจับ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ยึดทรัพย์เฉียด 300 ล้านบาท

“ดีอี” จับมือ ปปง.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวหลังบุกทลาย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” รายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด พร้อมยึดทรัพย์เฉียด 300 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับของเดิมเท่ากับมีมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (12 ม.ค. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วยนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ปปง., พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง.

โดยได้ร่วมแถลงข่าวปฏิบัติการยึดทรัพย์เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด ยึดทรัพย์สินได้มูลค่ารวมกว่า 281.5 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป แต่หากรวมทรัพย์สินที่ยึดอายัดแล้วอยู่ที่ 924 ล้านบาท ซึ่งจะมีมูลค่าทั้งหมดกว่า 1,205 ล้านบาท

ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่ากระทรวงดีอี ได้จัดตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ AOC 1441 ขึ้นมาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อรับเรื่องร้องเรียน และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากภัยอออนไลน์ทุกรูปแบบ อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามอาญชากรรมออนไลน์ รวมถึงขยายผลการจับกุมเพื่อเร่งรัดติดตามทรัพย์สินประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายไปจนถึงการดำเนินการปกป้องความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน

ทั้งนี้นำมาซึ่งปฏิบัติการจับกุมคดีสำคัญในครั้งนี้ คือ คดีของ นางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง โดยมีพฤติการณ์แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการในรูป “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” สร้างกลโกงหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายหลายรูปแบบรวมถึงสร้างความเสียหายด้านมูลค่าที่มหาศาล

ขณะที่นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่าปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปปง. และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนสอบสวนขยายผล เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดรวมถึงผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์รายคดีดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน

โดยเป็นการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระและความผิดเกี่ยวกับการพนัน โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ บก.ปอศ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีในรายคดีดังกล่าว

อีกทั้งจากข้อมูลของ บก.ปอศ. พบว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการรวมถึงมีการแบ่งหน้าที่กันทำและหลอกลวงผู้เสียหายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไปแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน

นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น Facebook ในลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุล “บาท” เป็นเงินสกุล “หยวน” ในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงินแต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด ทั้งนี้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจานวนมาก

ขณะที่จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีการโอนเงินมากกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับอาชีพและรายได้ รวมทั้งมีการโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิดอำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย

โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/67 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ อาทิ รถยนต์, รถจักรยานยนต์, ที่ดิน, ห้องชุด สลากออมสิน และเงินในบัญชีเงินฝากพร้อมดอกผล รวมมูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท

อีกทั้งปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับคณะพนักงานสืบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อลงพื้นที่ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด

ทั้งนี้ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวนหลายรายการ อาทิ ธนบัตร, ทองรูปพรรณ, เครื่องประดับ, นาฬิกาแบรนด์เนม, รถยนต์ และรถจักรยานยนต์รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท รวมถึงตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่เลขาธิการ ปปง. กล่าวทิ้งท้ายว่าตอนนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายคดี โดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึด และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน รวมถึงตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิดในขณะเดียวกันถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้นจะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

Back to top button