โบรกชู ITC-AAI เด่น! รับส่งออก “อาหารสัตว์เลี้ยง” ปี 67 สดใส
“กระทรวงพาณิชย์” ชี้แนวโน้มธุรกิจ “อาหารสัตว์เลี้ยง” สดใส! ชี้เทรนด์ส่งออกเจาะตลาดใหญ่ในยุโรป ชู ITC-AAI เด่น ลุ้นรายได้และกำไรฟื้น
กลายเป็นหนึ่งธุรกิจส่งออกที่น่าจับตามองขึ้นมาทันที สำหรับกลุ่มธุรกิจ “อาหารสัตว์เลี้ยง” ของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขการส่งออกที่พบว่า ปี 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปีทีผ่านมา การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง มีมูลค่า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย
โดยเฉพาะในส่วนของอาหารสุนัขและแมว พบว่า ประเทศไทยส่งออกได้เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2565 อยู่ที่ 2,434 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.33% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.51% ของการส่งออกสินค้าอาหารสุนัขและแมวทั่วโลก
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกปี 2566 ของ Euromonitor International Voice of the Consumer พบว่า แนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการในการเลือกซื้ออาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคในยุคนี้ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization) การให้ความสำคัญกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับสุขภาพของผู้เลี้ยง
รวมถึงการจัดจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน (Omni Channel) และการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่าการค้าสูง โดยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของ EU มีมูลค่ารวม 29,100 ล้านยูโร หรือ 31,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ดังนั้น EU เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น โดยกฎระเบียบและมาตรการที่ยุโรปบังคับใช้นั้น เป็นทั้งโอกาส และความท้าทาย ของผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียม อาทิ การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิก การวิจัยและพัฒนา (R&D) อาหารสัตว์เลี้ยงให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องศึกษารสนิยม พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับบริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจด้านนี้ และถือเป็นเจ้าใหญ่ของตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ได้แก่ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC โดยบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า รายได้และกำไรจะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ในยุโรป และสหรัฐเริ่มกลับมาตุนสต็อก (restock) อีกครั้ง ในขณะที่ปริมาณยอดขายสินค้า private label ก็เพิ่มขึ้นด้วย และ ITC ปรับขึ้นราคาขายสินค้า 2-3% ในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI มีนักวิเคราะห์มีมุมมองไม่ต่างกัน โดย บล. ดาโอ (ประเทศไทย) คาดการณ์กำไรไตรมาส 4/66 ของ AAI ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเติบโตต่อเนื่อง ได้รับแรงหนุนจาก inventory destocking ทยอยคลี่คลาย และคำสั่งซื้อ Human food สูงขึ้นจากลูกค้าใหม่อิสราเอล