จับตา ครม.อังคารหน้า! “พีระพันธุ์” ชงรื้อโครงสร้าง “ไฟฟ้า-น้ำมัน” ทั้งระบบ

“รมว.พลังงาน” กางแผนปี 67 เตรียมปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เดินหน้าลดราคาน้ำมัน คาดเสนอเข้า ครม. ภายในสัปดาห์หน้า เล็งผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง พ่วงติดตั้ง “EV Charging Station” พร้อมส่งเสริมพลังงานสะอาด มุ่งสู่ “Net Zero”


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ปีแห่งการขับเคลื่อนพลังงานไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า” ว่า ในปี 2567 ได้เตรียมนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ

ในส่วนของราคาน้ำมัน หากดูโครงสร้างราคาน้ำมันจะมีส่วนของราคาหน้าโรงกลั่น และภาษีหลายตัว ดังนั้นคงต้องใช้กลไกของภาครัฐเป็นหลักในการควบคุมราคาน้ำมัน ขณะที่ในส่วนราคาขายปลีกดีเซลนั้น จะพยามรักษาราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้หารือกับทางกระทรวงการคลังแล้ว เพื่อใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า

สำหรับมาตรการดูแลราคากลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์นั้น จะสิ้นสุดมาตรการ 31 มกราคม 2567 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณา เนื่องจากขณะนี้ราคาเบนซินปรับลดลงมาอยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร นับว่าเป็นราคาที่ไม่สูงมากนัก ดังนั้น ต้องมีการหารือกันว่าจะช่วยต่อไปหรือไม่ เนื่องจากต้องดูฐานะการคลังและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

สำหรับการดูแลค่าไฟฟ้า กระทรวงฯ จะดูความต้องการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันใหม่ เนื่องจากช่วงพีคไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนช่วงกลางคืน หรือประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เพราะจำนวนรถยนต์ EV เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงาน หารือกับกรมสรรพากร ศึกษาให้ผู้ประกอบการหรือประชาชน โดยนำค่าใช้จ่ายจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป มาหักลดหย่อนภาษีประจำปี ได้ไม่เกิน 2 แสนบาท ขนาด 10 กิโลวัตต์ โดยมีระยะเวลา 3 ปี หลังจากมีบังคับใช้ เพื่อจะสนับสนุนคนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปปีละ 90,000 ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะได้รายละเอียดเร็วๆ นี้

“มาตรการไหนที่ทำได้ ผมก็จะทำทันที เช่น การลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการไหนที่ต้องใช้เวลา อย่างการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุด อย่างในปัจจุบันเตรียมยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำมัน สำหรับเกษตรกรและกลุ่มประมงให้ได้ภายในสมัยประชุมสภาที่จะถึงนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ผมย้ำเสมอ จะเร่งดำเนินการในปีนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยในส่วนของโซลาร์เซลล์ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น รวมทั้งจะเข้าไปดูแลการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้อง และรองรับปริมาณของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ขณะที่การดำเนินการในช่วงปี 2566 ที่ผานมา เป็นช่วงคาบเกี่ยวของ 2 รัฐบาล แต่ทั้ง 2 รัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการกำชับการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการผลิต นอกจากนั้น ก็ได้มีการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา) ซึ่งได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสามารถลดลงได้

โดย ในปี 2567 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการเร่งรัดการลงทุน และให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องของแหล่งในประทศ รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังได้เตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ด้วย

ทั้งนี้ ปี 2567 มีแผนจัดทำมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าและกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้ง “EV Charging Station” รวมถึงการลงนาม MOU ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมแผนลดชนิดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ให้เหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (บี 7) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ รวมทั้งน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 (น้ำมันทางเลือก) โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน มีการพัฒนาระบบ Stockpile และ e-Fuelcard และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Safety e-Trade , e-License และระบบสำรองข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินงานในรูปแบบ e-Service

อีกทั้ง มีแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ โดยในปี 2567 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ได้เข้าถึงพลังงานสะอาดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแบบครบวงจรมากขึ้น อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง , มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผน ร่างแผนพลังงานชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอร่างแผนฯ ต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม. เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป นอกจากนี้แผนงานในปี 2567 ของ สนพ. ยังมีเรื่อง การนำเสนอแนวทางการเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะมีโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระยะทดลอง-นำร่อง พ.ศ. 2567  2568 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกลไกการแข่งขันที่สะท้อนต้นทุนทางด้านราคาแทนการอุดหนุนทางด้านราคา เปิดโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ทางด้านพลังงานเกิดขึ้น และภาครัฐสามารถใช้เป็นกลไกให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

Back to top button