จับตา! ท่าที “จีน” หลัง “ไล่ ชิง-เต๋อ” ชนะเลือกตั้งผู้นำ “ไต้หวัน” กว่า 5 ล้านเสียง
จับตาท่าที “จีน” หลังนายไล่ ชิง-เต๋อ เตรียมรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ในเดือนพ.ค. นี้ คว้า DPP บริหารสมัย 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความตึงเครียดกับปักกิ่งที่เพิ่มขึ้น ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 5 ล้านเสียง
ผู้สื่อข่าวรายงาน (13 ม.ค.67) อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักข่าวต่างประเทศ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน ว่า นายโหว โหย่ว-อี๋ ตัวแทนผู้สมัครรับเลอกตั้งประธานาธิบดี จากพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออก และนพ.เคอ เหวิน-เจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป ซึ่งลงสมัครในนามตัวแทนพรรคประชาชนไต้หวัน (ทีพีพี ) ที่ขอเป็นพรรคการเมืองทางเลือก ต่างออกมาประกาศในเวลาไล่เลี่ยกัน ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ทั้งคู่แสดงความยินดีกับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี ) คือนายไล่ ชิง-เต๋อ รองผู้นำคนปัจจุบัน และนางเซียว เหม่ย-ฉิน ซึ่งลงสมัครคู่กันในตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ด้านข้อมูลจากสื่อท้องถิ่นของไต้หวันเป็นไปในทางเดียวกันว่าไล่ วัย 64 ปี ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านเสียง หรือราว 40% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนซึ่งออกมาใช้สิทธิ สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน ที่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า 5 ล้านเสียง ส่วนจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ประมาณ 70%
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้นำเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เนื่องจากประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ผู้นำหญิงคนปัจจุบัน และผู้นำหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน ดำรงตำแหน่งครบสองสมัยแล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถลงสมัครได้อีก
ขณะที่ผลการเลือกตั้งแน่นอนว่าได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดจากจีนและสหรัฐ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าจะเป็นการต่อเวลาการเป็นรัฐบาลของพรรคดีพีพี ให้ยาวนานออกไปอีกนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งไช่ได้รับชัยขนะสมัยแรก
ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังคงประณามไล่และพรรคดีพีพี “เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน” และถึงขั้นกล่าวว่า “ขอให้ชาวไต้หวันเลือกให้ถูกคน” อีกทั้งเตือนว่า “การตัดสินใจผิดพลาด” จะยิ่งเป็นการเพิ่มความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ส่วนสหรัฐกล่าวว่า จะส่งคณะผู้แทนเยือนไต้หวันหลังผ่านพ้นการเลือกตั้ง เพื่อแสดงความยินดีกับว่าที่ผู้นำคนต่อไป เรียกเสียงประณามอย่างหนักจากจีน อนึ่ง ไล่จะรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 8 ของไต้หวันอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 พ.ค.67
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกเรียกว่าการเลือกตั้งเพื่อ “War and Peace” สงครามและสันติภาพ เกิดเรื่องชุลมุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 1 วันก่อนเลือกตั้งจีนปล่อยจรวดส่งดาวเทียมสู่อวกาศ แต่ทางการไต้หวันแจ้งเตือนประชาชนถึงการโจมตีทางอากาศ ขณะที่ตัวแทนไต้หวันเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งจีนได้แสดงท่าทีอย่างรุนแรงตอบโต้ไปว่านี่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน
นอกจากนี้ทาง CNN รายงานว่า ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี “ไล่ชิงเต๋อ” จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ไม่เป็นที่ถูกใจเจ้าหน้าที่จีน ความคิดเห็นในอดีตของเขาที่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน แม้เขาปรับจุดยืนสนับสนุนสถานะที่เป็นอยู่ หรืออธิปไตยโดยพฤตินัยของไต้หวัน แต่ปักกิ่งยังคงประณามว่าเขาเป็นผู้แบ่งแยกดินแดนที่เป็นอันตราย และปฏิเสธ “การเจรจา”
“ชาร์ลี เวสท์” รองผู้อำนวยการของกลุ่มโรเดียม ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับจีน กล่าวถ้า ไล่ชิงเต๋อ และ DPP ชนะ จะได้เห็นมาตรการบีบบังคับต่าง ๆ จากปักกิ่ง รวมถึงการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่อาจขัดขวางเรือพานิชย์ และธุรกิจในช่องแคบไต้หวัน หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบนเกาะที่พึ่งพาการค้าทุกปี เรือคอนเทนเนอร์ประมาณครึ่งหนึ่งของโลกแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน คู่แข่งและพันธมิตรที่สำคัญ
โดยไต้หวันและจีนมีการแข่งขันทางการเมืองที่ซับซ้อน แต่ก็มีความเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจเช่นกัน จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวันและเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนชั้นนำมายาวนาน
ด้านกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวัน ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมูลค่าการส่งออกของไต้หวันกว่า 35% ส่งออกไปยังจีน ส่วนใหญ่เป็นวงจรรวม เซลล์แสงอาทิตย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าจากประเทศจีนคิดเป็น 20% ของการนำเข้าทั้งหมด ไต้หวันเกินดุลการค้ากับจีนเป็นจำนวนถึง 8หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566
“ไต้หวันและจีนมีความสำคัญต่อกันและกันอย่างยิ่ง จีนพึ่งพาปัจจัยการผลิตและบริษัทของไต้หวันในห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกเป็นอย่างมาก”
สำหรับประเทศจีน เซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทของไต้หวัน อย่าง TSM (โรงงานผลิตของ TSMC) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เกาะแห่งนี้ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการค้าระหว่างจีนกับโลกอีกด้วย เกาะนี้ผลิตชิปมากกว่า 60% ของโลกและประมาณ 90% ของชิปที่ทันสมัยที่สุดในโลก
โดยจีนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือกลที่มีความแม่นยำจากไต้หวัน ประกอบและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังตลาดโลก จีนไม่เคยคว่ำบาตรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตของตนเอง
หากไต้หวันถูกปิดล้อม นั่นอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนของการเผชิญหน้าทางทหารที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” เวสต์ประเมิน