ส่อง 5 ธีม เสี่ยงกระทบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เลื่อนยาว
โบรกมองนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด มองว่ากลุ่มอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่ ท่องเที่ยว, อาหาร, ห้างสรรพสินค้า, การเงินและโฆษณา รวมถึงอุปโภคและบริโภค คาดว่าจะโดนผลกระทบ สร้าง Sentiment เชิงลบต่อหุ้นที่เคยได้
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (14 มกราคม 2567) ประเมินว่าหลังจากที่ช่วงต้นสัปดาห์มีการเลื่อนการประชุมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไม่มีกำหนด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการเสนอแนะ โดยแบ่งเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยง 4 ข้อใหญ่ และข้อเสนอแนะ 8 ข้อ ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์ Market Talk ประจำวันที่ 17 มกราคม 2567
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการตามเดิม แม้จะต้องยอมรับว่าเวลาในการดำเนินโครงการอาจไม่ทันกำหนดการเดิม คือ เดือน พฤษภาคม 2567 เนื่องจากกระชั้นชิดเข้ามาทุกที โดยอาจมีโอกาสขยับกรอบเวลาไปเป็นเดือน มิถุนายน 2567 ได้ประเด็นดังกล่าวสร้าง Sentiment เชิงลบต่อหุ้นที่เคยได้ โดย Sentiment เชิงบวกมาก่อนหน้านี้ อาทิ
1.กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW
2.กลุ่มอาหาร ได้แก่ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M, บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU
3.กลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN
4.กลุ่มการเงินและโฆษณา ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS
5.กลุ่มอุปโภคและบริโภค ได้แก่ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP
อย่างไรก็ตามหากนโยบายดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อฐานะการเงินของประเทศในระยะถัดไป เนื่องจากหากรัฐบาลกู้หนี้เพิ่มหนี้อีก 5 แสนล้านบาท จะทำให้เป็นหนี้สาธารณะ (Public Debt) และ GDP สูงไปสู่ระดับ 65% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 62.14%
ทั้งนี้ สรุปสัญญาณที่ไม่ดีของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตทั้งการเลื่อนกรอบเวลาจากเดิม และความเสี่ยงของการไม่เกิดขึ้นของนโยบายดังกล่าว ล้วนสร้าง Sentiment เชิงลบต่อ SET Index และหุ้นที่เคยได้รับ Sentiment เชิงบวกมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมุมฐานะการคลังของประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้ภาระทางการคลังเบาลง และสามารถมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะถัดไป หนุนให้เงินบาทเร่งตัวแข็งค่าในอนาคต