“ดาวโจนส์” ปิดบวก 60 จุด ขานรับข้อมูลเงินเฟ้อชะลอตัว

“ดาวโจนส์” ปิดบวก 60 จุด ขานรับข้อมูลเงินเฟ้อชะลอตัวต่ำกว่าระดับ 3% เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สนับสนุนแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) ขานรับข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในสหรัฐ แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี  Nasdaq ปิดลดลง โดยถูกกดดันจากการที่หุ้นอินเทลร่วงลงหลังคาดการณ์รายได้ที่ซบเซา

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,109.43 จุด เพิ่มขึ้น 60.30 จุด หรือ +0.16%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,890.97 จุด ลดลง 3.19 จุด หรือ -0.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,455.36 จุด ลดลง 55.13 จุด หรือ -0.36%

โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.65%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.06% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.94%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้น หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังปรับตัวลง 0.1% ในเดือนพ.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.0% และลดลงจากระดับ 3.2% ในเดือนพ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.1% ในเดือนพ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

โดยข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าวที่ชะลอตัวลงต่ำกว่าระดับ 3% เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันนั้นสนับสนุนแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ที่สูงกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับ GDP ประจำไตรมาส 4/2566 ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.3% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.0%

ด้านดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมาสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ท่ามกลางความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงแนวโน้มที่สดใสเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

แต่ตลาดถูกกดดันจากการที่ราคาหุ้นอินเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 11.9% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์กำไรและรายได้ในไตรมาส 1/2567 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยอินเทลคาดว่าจะมีรายได้ 1.22-1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีกำไร 13 เซนต์/หุ้น ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 33 เซนต์/หุ้น

ส่วนดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ตลาดฟิลาเดลเฟีย ร่วง 2.9% เป็นวันที่ 2 หลังปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันพุธ (24 ม.ค.)

ขณะที่ข้อมูลจาก LSEG บ่งชี้ว่า บริษัทในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว โดย 78.2% รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในระยะยาวที่ 67%

ด้านหุ้นเทสลาฟื้นตัวขึ้น 0.3% หลังร่วง 12% ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการเตือนถึงการขยายตัวที่ชะลอลงในปีนี้

ส่วนหุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส พุ่ง 7.1% หลังคาดการณ์ผลกำไรต่อปีเพิ่มขึ้นเกินคาด แต่หุ้นวีซ่า ลดลง 1.7% หลังคาดการณ์รายได้ที่อ่อนแอในไตรมาสปัจจุบัน

ขณะที่หุ้นคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ พุ่ง 2% หลังเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4 ที่สดใส และหุ้นแอปเปิ้ลและหุ้นอินเทลถ่วงดัชนี S&P500 ลงมากที่สุด โดยหุ้นแอปเปิ้ล ร่วง 1% ก่อนการรายงานผลประกอบการรายไตรมาสในวันพฤหัสบดีหน้า

Back to top button