สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 ม.ค. 2567
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 ม.ค. 2567
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) ขานรับข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในสหรัฐ แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลดลง โดยถูกกดดันจากการที่หุ้นอินเทลร่วงลงหลังคาดการณ์รายได้ที่ซบเซา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,109.43 จุด เพิ่มขึ้น 60.30 จุด หรือ +0.16%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,890.97 จุด ลดลง 3.19 จุด หรือ -0.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,455.36 จุด ลดลง 55.13 จุด หรือ -0.36%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 1% ในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจที่สดใสจากบริษัทแอลวีเอ็มเอช (LVMH) หรือหลุยส์วิตตอง และบริษัทเรมี คอนโทร ขณะที่นักลงทุนประเมินแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี
ดัชนี STOXX600 ปิดตลาดที่ระดับ 483.84 จุด เพิ่มขึ้น 5.31 จุด หรือ +1.11% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และปรับตัวขึ้น 3.1% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 12 สัปดาห์, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,634.14 จุด เพิ่มขึ้น 169.94 จุด หรือ +2.28%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,961.39 จุด เพิ่มขึ้น 54.47 จุด หรือ +0.32% และดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,635.09 จุด เพิ่มขึ้น 105.36 จุด หรือ +1.40%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) โดยปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทสินค้าหรูหราของยุโรปซึ่งได้ช่วยหนุนหุ้นเบอเบอร์รีและหุ้นดิอาจีโอ อีกทั้งตลาดยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอังกฤษแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
ดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,635.09 จุด เพิ่มขึ้น 105.36 จุด หรือ +1.40% โดยปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกในปีนี้ และเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบกว่า 4 เดือน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว และจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความวิตกเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันของตะวันออกกลางได้ช่วยหนุนตลาดด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 78.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. และปรับตัวขึ้น 6.5% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 1.12 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 83.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. และปรับตัวขึ้นเกือบ 6.4% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเล็กน้อยในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อสัญญาทองคำก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. ลดลง 50 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 2,017.30 ดอลลาร์/ออนซ์ และลดลง 0.67% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน มี.ค. ลดลง 5.50 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 22.872 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 26.80 ดอลลาร์ หรือ 3.00% ปิดที่ 921.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 18.50 ดอลลาร์ หรือ 1.96% ปิดที่ 961.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (26 ม.ค.67) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือน ธ.ค.และมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในกลางปีนี้
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.13% แตะที่ระดับ 103.434