AOT เร่งขยาย “สนามบินอันดามัน” รองรับนักท่องเที่ยว 18 ล้านคน/ปี

AOT รับลูก "สุริยะ" เดินหน้า "สนามบินอันดามัน" รองรับเที่ยวบินตรงระยะไกล เพื่อรองรับการใช้บริการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท. อยู่ระหว่างพัฒนาขยายท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถรองรับการให้บริการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยเน้นย้ำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทางบกที่จะเชื่อมต่อถึงสนามบินเพื่อให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกมากที่สุดด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้าง ท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่ จังหวัดพังงา หรือท่าอากาศยานอันดามัน (Andaman International Airport) โดย ทอท. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมฯ ทั้งนี้ เมื่อท่าอากาศยานอันดามันก่อสร้างแล้วเสร็จมีแนวคิดที่จะปรับรูปแบบการให้บริการระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามันใหม่เพื่อให้มีศักยภาพในการรองรับมากขึ้น

โดยจะให้ท่าอากาศยานภูเก็ตรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศเส้นทางระยะสั้นในภูมิภาค ส่วนท่าอากาศยานอันดามันจะรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศระยะทางไกลที่เป็นเส้นทางบินตรงเป็นหลัก โดยจะยังมีเที่ยวบินภายในประเทศบางส่วนอยู่ด้วยเพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับเส้นทางระหว่างประเทศ

ด้าน นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า AOT รับนโยบาย รมว.คมนาคมมาดำเนินการ โดยวางแผนรูปแบบการบริหารจัดการท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กม. โดยใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 15-20 นาทีผ่านสะพานสารสินที่เชื่อมจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา นอกจากนี้จะจัดระบบขนส่งเชื่อมระหว่าง 2 สนามบินนี้ให้ผู้โดยสารมีความสะดวกมากที่สุดอีกด้วย

ขณะที่ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 12.5 ล้านบาทคนต่อปีมี 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมี 25 หลุดจอด ทอท.อยู่ระหว่างขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มการรองรับเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากพื้นที่มีข้อจำกัดจึงไม่สามารถเพิ่มรันเวย์ที่ 2 ได้ทำให้ขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินยังจำกัด ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินเกือบเต็มขีดการรองรับของรันเวย์แล้ว การก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันจังหวัดพังงาจึงตอบโจทย์

โดยระยะยาวเมื่อก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันแล้วเสร็จจะย้ายบริการผู้โดยสารระหว่างประเทศในส่วนของเที่ยวบินตรง(Direct Flight) แบบ long-haul flight จากท่าอากาศยานภูเก็ตไปท่าอากาศยานอันดามันเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกล และยังมีเที่ยวบินภายในประเทศด้วยแต่ไม่มากสำหรับรองรับผู้โดยสารเชื่อมต่อกับเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตก็ยังคงมีเที่ยวบินระหว่างประเทศแต่จะเป็นในรูปแบบPoint to Point แบบเส้นทางในภูมิภาค(regional)โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ศึกษาคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

Back to top button