“ปศุสัตว์” โชว์ส่งออกชิ้นส่วน-เครื่องในเป็ด “จีน” เพิ่มแตะ 1 พันล้าน
“อธิบดีกรมปศุสัตว์” เผยส่งออกชิ้นส่วน-เครื่องในเป็ดไป “จีน” เพิ่มมากขึ้น แตะ 1 พันล้านบาท ด้านชิ้นส่วนเครื่องในไก่ส่งออกสูงสุดในปี 66 มูลค่าแตะ 1.69 หมื่นล้านบาท
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามพิธีสาร “ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ ความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกไทยไปจีน” ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้ลงนามฝ่ายจีน
โดยมีนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ ห้องรับรองสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ส่วนพิธีสารฉบับเดิมของสัตว์ปีก ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ประเทศไทยส่งออกได้เฉพาะเนื้อไก่ เนื้อเป็ด ชิ้นส่วนและเครื่องในไก่เท่านั้น การขยายขอบข่ายตามพิธีสารฯ ดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถส่งออกชิ้นส่วนและเครื่องในเป็ดได้เพิ่มเติมอีก 18 รายการ เช่น ขา ปีก ตับ กึ๋น ลิ้น และปาก เป็นต้น ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคในสาธารณรัฐประชาชนจีน คาดการณ์ว่ามูลค่าส่งออกชิ้นส่วนและเครื่องในเป็ดเพิ่มเติมมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
โดยที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ประสานงานและมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณัฐประชาชนจีน (General Administration of Custom of People ‘s Republic of China: GACC) โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขการค้าระหว่างกัน การกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยอาหารและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ ภายใต้การกำกับ ดูแล ระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งพิธีสารฯฉบับดังกล่าว เมื่อมีการลงนามทั้งสองฝ่ายแล้ว จะเป็นการขยายตลาด และสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2566 สินค้าปศุสัตว์ที่มีการส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนมากที่สุด คือ ชิ้นส่วนและเครื่องในไก่ มูลค่า 16,900 ล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า 1,200 ล้านบาท และกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ นม ไข่ น้ำผึ้ง รังนก มูลค่า 1,000 ล้านบาท รวมแล้วการส่งสินค้าปศุสัตว์ของไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2566 มีมูลค่ามากกว่า 19,000 ล้านบาท