IMF ชี้แนวโน้ม “เงินเฟ้อทั่วโลก” ชะลอตัว ปูทางธนาคารกลางลด “ดอกเบี้ย” ครึ่งปีหลัง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองแนวโน้ม “เงินเฟ้อทั่วโลก” ชะลอตัวช่วงถัดไป ปูทางธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ม.ค. 67) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า การใช้นโยบายที่เข้มงวดของธนาคารกลางต่างๆ ได้ทำให้เงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าคาดในภูมิภาคส่วนใหญ่
ทั้งนี้ IMF คาดว่าเงินเฟ้อในระดับโลกจะอยู่ที่ระดับ 5.8% ในปี 2567 หลังจากพุ่งแตะ 6.8% ในปี 2566 และจะอยู่ที่ระดับ 4.4% ในปี 2568 ส่วนเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระดับ 2.6% ในปีนี้ และ 2.0% ในปีหน้า
“เรามีชัยชนะต่อการทำสงครามกับเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะมีภาวะซอฟท์แลนดิ้ง ซึ่งจะปูทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางแห่งอื่นๆ เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงการคาดการณ์ในขณะนี้ก็คือ ธนาคารกลางจะรอเพื่อให้ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม โดยจะทำการตัดสินใจในการประชุมเป็นรายครั้ง ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ และคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง” นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าว
ขณะเดียวกัน IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้ โดยคาดว่าจะมีการขยายตัว 3.1% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค.ที่ระดับ 2.9% โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และมาตรการกระตุ้นด้านการคลังของจีน
นอกจากนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.2% ในปี 2568
IMF ระบุว่ามีแนวโน้มลดน้อยลงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะ “ฮาร์ดแลนดิ้ง” หรือเศรษฐกิจหดตัวลงหลังมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง แม้มีความเสี่ยงครั้งใหม่จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น และปัญหาห่วงโซ่อุปทานท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง
รวมถึง IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 2.1% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.5% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัว 4.6% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.2% ขณะที่คาดว่ายูโรโซนและญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.9% ในปีนี้