SCB WEALTH แนะลงทุน “ตราสารหนี้” รับดอกเบี้ยทรงตัวสูง ชูกลุ่ม “Investment grade” เด่น

SCB WEALTH มองตลาดตราสารหนี้ปี 67 สร้างผลตอบแทนดีต่อเนื่อง อานิสงส์ดอกเบี้ยที่คงระดับสูง มีแนวโน้มปรับตัวลงในอนาคต พร้อมแนะลงทุนหุ้นกู้ต่างประเทศ กลุ่ม “Investment grade” คาดหุ้นกู้ไทยออกใหม่อีก 1 ล้านล้านบาทในปีนี้


นายศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะยังสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงสุด และมีแนวโน้มปรับตัวเป็นขาลงในอนาคต ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ

โดยตราสารหนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่ มีอายุเฉลี่ยยาว และจ่ายดอกเบี้ยรับ (coupon) คงที่ และเมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลดลง ราคาของพันธบัตรมักจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนนอกจากจะได้รับผลตอบแทนจาก Coupon  แล้ว ยังจะได้รับผลตอบแทนจาก capital gain เพิ่มอีกด้วย

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า นับจากวันที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นครั้งสุดท้ายไปอีก 12 เดือนข้างหน้า ตราสารหนี้ต่างประเทศจะทำผลงานได้ค่อนข้างดี เช่น ในปี 2527, 2532 , 2538 , 2543 , 2549 และ 2551 เมื่อดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดแล้วหยุดขึ้น หุ้นกู้สามารถให้ผลตอบแทนได้ในระดับ 10-24% และเมื่อเข้าสู่วงจรที่ดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลงใน 1-2 ครั้งแรก ใน 6-12 เดือนข้างหน้า ตราสารหนี้ก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำผลงานได้ดีมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ทำได้ ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เมื่ออยู่ในช่วงดอกเบี้ยหยุดขึ้นอาจจะยังทำผลงานได้ดี แต่เมื่อดอกเบี้ยเริ่มลดลงครั้งแรก จะทำผลงานได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (underperform) หรืออาจให้ผลตอบแทนติดลบ

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในปีที่ผ่านมา สร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี โดยกลุ่มตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่ลงทุนได้ และมีความเสี่ยงสูง ประเภท หุ้นกู้ High Yield สหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงสุดประมาณ 13.5% เป็นผลจากตลาดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงปลายปี โดยมองว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางชะลอตัวอย่างช้าๆ (Soft Landing) จากช่วงต้นปีที่มองว่าเศรษฐกิจอาจเกิดภาวะถดถอย (Recession) นักลงทุนจึงพร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk on) เป็นผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้สร้างผลงานได้ดีช่วงปลายปี รวมถึงตราสารหนี้ High Yield ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567-2568 นี้ จะเริ่มมีอุปทาน High Yield ออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากมีบริษัทจำนวนมาก ที่ต้องการออกหุ้นกู้  High Yield เพื่อนำไปชำระหนี้เดิม (rollover) แม้จะมีความท้าทายที่จะต้องออกหุ้นกู้ ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่งบดุลของบริษัทที่ออกตราสารประเภทนี้อาจไม่ได้ดีเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มองว่าตราสารหนี้ High Yield อาจไม่น่าสนใจลงทุน และต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการ rollover มากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่มาจากความสามารถในการชำระหนี้  กรณีที่ต้อง rollover ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ จึงแนะนำให้นักลงทุนควรมีตราสารหนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตลงทุน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้  เพราะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดได้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา และหากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ในระดับค่อนข้างต่ำ ควรมีตราสารหนี้ประมาณ 70-80% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง แต่หากรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง อาจมีตราสารหนี้ 50-60% และส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง

นายศรชัย กล่าวอีกว่า การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนไทย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ขณะที่ตราสารหนี้ High Yield หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต มีต่ำกว่า 10% ของหุ้นกู้ทั้งหมด ดังนั้นตลาดโดยรวมจึงยังไม่น่าเป็นห่วง และคาดว่าในปีนี้จะมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม ที่ครบอายุประมาณ 1 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่ม Investment Grade มีความต้องการซื้อเข้ามาตลอดเวลา จึงไม่มีปัญหาในการ rollover เมื่อมีการออกหุ้นกู้ใหม่ ส่วนหุ้นกู้ประเภท High Yield ออกใหม่ คาดว่าจะมีประมาณ 1.3 แสนล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองว่า ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น และควรเน้นคัดเลือกอุตสาหกรรมที่ไม่น่ากังวล มีหนี้สินต่อทุนยังต่ำ และแนวโน้มธุรกิจมีการเติบโตได้ดี

สำหรับข้อแนะนำการลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ควรกระจายความเสี่ยง ลงทุนในแต่ละตัวไม่มาก และให้ความสำคัญในการดูเงื่อนไขของหุ้นกู้ประกอบให้มาก เช่น เป็นหุ้นกู้ประเภทไหน มีหลักประกันหรือไม่ หลักประกันนี้ยึดได้ทันทีที่ผิดนัดชำระเลยหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรลงทุนหุ้นกู้ที่มีระดับความเสี่ยงลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ส่วนในกรณีที่มองว่าไม่สามารถคัดเลือกหุ้นกู้เองได้แบบละเอียดถี่ถ้วน แนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวม เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Dynamic Bond หรือ SCBDBOND ที่เน้นคัดเลือกลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนที่มีคุณภาพสูง อยู่ในระดับ Investment Grade ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถช่วยลดความกังวลต่อเครดิตเรตติ้งของตราสารหนี้ให้นักลงทุนได้ระดับหนึ่ง โดยกองทุนนี้มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับกลยุทธ์เพิ่มหรือลดอายุของตราสารหนี้ (Duration) เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะตลาด ช่วยสร้างผลตอบแทนบนสภาวะดอกเบี้ยในสถานการณ์ดอกเบี้ยทุกรูปแบบได้

Back to top button