“สนค.” ชี้เงินเฟ้อไทยปี 67 ติดลบ รัฐคุมมาตรการค่าครองชีพ
“สนค.” คาดเงินเฟ้อไทยปี 67 แนวโน้มชะลอตัว -0.3 - 1.7% ค่ากลาง 0.7% หลังภาครัฐส่งซิกลดค่าครองชีพต่อเนื่อง จับตาเศรษฐกิจโลก-ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และมาตรการภาครัฐ ชี้ร่วมมือกับเอกชนดูแลราคาสินค้าอย่างเข้มข้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จะชะลอตัว ต่อเนื่องจากปี 2566 และอยู่ในระดับต่ำ ระหว่าง (-0.3) – 1.7% ค่ากลาง 0.7% เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้งปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 สูงขึ้น 1.23% (AoA) ชะลอตัวค่อนข้างมากจากปี 2565 ที่สูงขึ้น 6.08% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระหว่าง 1.0 3.0% เนื่องจากราคาสินค้าบางกลุ่มปรับลดลงอย่างชัดเจน อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงปรับสูงขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง ปี 2566 จึงยังไม่มีสัญญาณที่สะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ขณะที่ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ในไตรมาส 1/2567 คาดการณ์ว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐที่มีต่อเนื่องจากปี 2566
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต, ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเล็กน้อย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยที่อาจทำให้ดัชนีเศรษฐกิจการค้าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ภัยธรรมชาติ, และมาตรการภาครัฐ ซึ่ง สนค. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดัชนีเศรษฐกิจการค้ามีความถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับสถานการณ์ และสามารถนำไปใช้ประกอบการดำเนินมาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2566 ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องในปี 2567 คือ การร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มข้นในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสม มีปริมาณเพียงพอ และดำเนินมาตรการลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพ ผลักดันภาคการส่งออก เร่งเจรจาการค้า รวมถึงเร่งขยายโอกาสและเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ตามนโยบาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เพื่อให้เศรษฐกิจการค้าของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็ง สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน