“มอร์แกนสแตนลีย์” หั่นราคาเป้า 3 แบงก์ใหญ่ เซ่นดอกเบี้ยขาลง
“มอร์แกนสแตนลีย์” หั่นราคาเป้าหมาย 3 แบงก์ใหญ่ KBANK หนักสุดเหลือ 164 บาท เซ่นดอกเบี้ยขาลง มองกรณีแย่สุดส่อลดดอกเบี้ยถึง 1% จากปัจจุบัน 2.50%
มอร์แกนสแตนลีย์ (MS) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(8ก.พ.67) โดยมองว่าประเทศไทยจะเห็นเงินเฟ้อที่ลดลง และปัจจัยกดดันการเติบโต ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะเป็นในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งจะเป็นแรงต้านต่อกลุ่มแบงก์ในระยะสั้น แต่อาจช่วยยกระดับการเติบโตของสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมได้ในระยะยาว รวมถึงผ่อนคลายแรงกดดันในคุณภาพหนี้สิน
เนื่องจาก Real Rate ของไทยอยู่สูงถึง 3.6% ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของ Real GDP ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นจุดผลักดันให้เกิดการลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการประชุมที่ผ่านมาจะมีคะแนน 5-2 เสียง เชื่อว่าคณะกรรมการฯธปท.จะยังคงผลักดันให้คงดอกเบี้ยอยู่ โดยมองว่าจะเริ่มเห็นโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยมากขึ้นหากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะที่วัฎจักรการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดเริ่มขึ้นซึ่งคาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และธปท.ในเดือนส.ค. โดยคาดว่าทั้งวัฎจักรนี้จะเห็นดอกเบี้ยลดลงไปราว 1% แตะระดับ 1.5%
MS ปรับคาดการณ์กลุ่มแบงก์ไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ภายในสิ้นปี 2568 พร้อมกันนั้นยังมองในกรณีที่แย่ที่สุดหากมีการปรับลดดอกเบี้ยถึง 1% ภายในปี 2568 โดยทุกๆ 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้ NIM ลดลง 15-20 จุด และ ROE ลดลง 0.8-1.2 จุดเปอร์เซ็น
ทั้งนี้ MS ระบุว่าโดยปกติแล้ว NIM ที่ลดลงจะเป็นปัจจัยเชิงลบต่อกลุ่มแบงก์ แต่เชื่อว่ามีบางแบงก์ที่รับรู้ปัจจัยเชิงลบดังกล่าวไปแล้ว และมาตรการกระตุ้นศก.ผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็อาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นจากระดับต่ำได้ นอกจากนั้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยทำให้สินเชื่อเติบโต รวมถึงผ่อนคลายการตั้งสำรองของหนี้ที่คาดว่าจะสูญ
ในกลุ่มแบงก์ไทย MS ชอบหุ้นที่มี P/E ต่ำโดยคงคำแนะนำซื้อ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (ลดราคาเป้าจาก 173 เป็น 164 บาท) และปรับเพิ่มคำแนะนำ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (ลดราคาเป้าจาก 184 เป็น 183 บาท) ขึ้นมาเป็นซื้อ เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน หากเห็นการลดดอกเบี้ยถึง 1% ซึ่งจะเป็นกรณีที่แย่ที่สุดสำหรับกลุ่มแบงก์ MS จึงลดคำแนะนำ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (ลดเป้าจาก 123 เป็น 120 บาท) เป็น ถือ และคงคำแนะนำขายธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB (เพิ่มเป้าจาก 1.62 เป็น 1.63 บาท) แม้ว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีก็ตาม