CREDIT เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเหนือจอง 29 บาท ระดมทุนขยายพอร์ตสินเชื่อ

CREDIT ลั่นระฆังเทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเหนือจอง 29 บาท ลุยขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ตอกย้ำเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแกร่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2567) หลักทรัพย์ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT ได้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มธนาคาร

โดย CREDIT มีทุนชำระแล้ว 6,146.45 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวม 254.13 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของ OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. 189.42 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 64.71 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้แก่

1) บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ พนักงาน และผู้มีอุปการคุณของธนาคาร ระหว่างวันที่ 23 – 26 มกราคม 2567

2) ผู้ลงทุนสถาบัน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศ นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ และผู้ลงทุน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในต่างประเทศ ผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคาหุ้นละ 29 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,876.47 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO อยู่ที่ 35,649.39 ล้านบาท

โดยมี ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญร่วม

สำหรับ CREDIT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อนาโน และไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) มายาวนานกว่า 15 ปี แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มคนค้าขายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งมีจำนวนมาก และถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ธนาคารมีทีมวิเคราะห์สินเชื่อ และบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง ผ่านสาขาการให้บริการกว่า 527 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และช่องทางดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้มีอัตราการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพสินเชื่อที่ดี

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CREDIT เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้บริษัทเติบโตตามกลยุทธ์ที่วางไว้ทั้งในเชิงธุรกิจ และการขับเคลื่อนสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการไมโครไฟแนนซ์ของประเทศไทย สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure)

ขณะที่ CREDIT มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มวี.ซี.สมบัติ ถือหุ้น 60.40% 2) นายวิญญู ไชยวรรณ ถือหุ้น 6.40% และ 3) กลุ่มนายวีรเวท ไชยวรรณ ถือหุ้น 1.90%

โดยการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มีการพิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) โดยราคาที่เสนอขายคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value : P/BV) เท่ากับ 2.12 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value Per Share) ที่ 13.70 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากมูลค่าตามบัญชีของธนาคาร ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้

ทั้งนี้ ธนาคารมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และตามที่ธนาคาร กำหนด ซึ่งไม่เกินกว่ากำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ

โดยธนาคารฯ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตในระดับ 20-30% ต่อปี สอดรับกับทิศทางการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ มีอัตราเติบโตของพอร์ตสินเชื่อโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ ณ งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 138,435 ล้านบาท

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิต นับเป็นธนาคารพาณิชย์ในรอบ 10 ปีที่เข้ามาระดมทุนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนในกลุ่มของ Olympus Capital Asia รวมจำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกิน20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ

ภายหลังการทำ IPO ในครั้งนี้ โดยในช่วงเปิดจองซื้อหุ้น IPO ธนาคารฯ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนรายย่อยตลอดจนนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ระดับโลก ให้ความเชื่อมั่นตอกย้ำความแข็งแกร่งของธุรกิจ ในระหว่างปี 2556 ถึงปัจจุบันธนาคารฯ มีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงสุดในอุตสาหกรรม

โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 8.2% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 21.8% สะท้อนการเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่มีการเติบโตแข็งแกร่งภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

อีกทั้ง จากรายงานของอิปซอสส์ (IPSOS) ประมาณการว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดของการกู้ยืมนอกระบบอยู่ที่ 235.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 14% ของมูลค่าสินเชื่อภาคครัวเรือนในประเทศไทย สะท้อนโอกาสของธนาคารไทยเครดิตในการสนับสนุนบริการสินเชื่อจึงมั่นใจว่า

สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารไทยเครดิต ในปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.3 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ

Back to top button