ส่อง 3 หุ้น “สินค้าอุตสาหกรรม” เทรนด์ EEC หนุนออเดอร์ทะลัก!

จับตา EEC คึกคัก ลุ้นเม็ดเงินต่างชาติลงทุนไทยปีละ 1 แสนล้าน ส่อง 3 บริษัทจดทะเบียนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเตรียมยกระดับธุรกิจรอรับงานไหลเข้า ดันการเติบโตระยะยาว


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า การปรับกลยุทธ์ใหม่ในแผนระยะ 5 ปี (2566-2570) ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มุ่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเชิงรุก เจาะกลุ่มศักยภาพ และวัดผลสร้างเม็ดเงินลงทุนจริง จะช่วยขับเคลื่อนให้การลงทุนไทยโตขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดย EEC กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ 1.การแพทย์และสุขภาพ 2.อุตสาหกรรมดิจิทัล 3.ยานยนต์สมัยใหม่ เช่น EV 4.BCG เช่น เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และ 5.บริการ เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบิน และโลจิสติกส์

พร้อมตั้งเป้าสร้างเม็ดเงินลงทุนจริง 5 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท) ซึ่งจะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในประเทศให้เติบโตได้มากกว่า 40% จากแผนเดิมช่วงปี 2561-2565 โดยบรรลุเป้ามูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุน BOI ที่ 2.2 ล้านล้านบาท แต่เม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่ยังไม่มาก เฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ประเมินว่าการปรับแนวทางดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของภาคการลงทุนไทยในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เกิน 3% ต่อปีอีกครั้งในอนาคต

ขณะที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจหรือมีฐานลูกค้าอยู่ใน EEC ถือว่ามีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนข้างต้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้าน นายชัยยศ ปิยะวรรณรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT ระบุว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2567 บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

รวมถึงเสนองานภาคเอกชนที่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต และมีกำลังซื้อสูง อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, รถไฟฟ้า EV, Data Center  และธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และเพิ่มโอกาสต่อยอดการขยายฐานลูกค้า โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางวิศวกรรมต่างๆ ในการผลิตตู้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานระดับโลก

อีกทั้งวางแผนร่วมมือกับพันธมิตรด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สามารถขยายฐานลูกค้าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ระบบไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือ และต้องการตู้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานระดับสูง ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถผลักดันผลประกอบการให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ต่ำกว่า 10%

ขณะที่ นายเกริก ลีเกษม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามอีสต์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะมุ่งเน้นยกระดับงานบริการ (Solutions Excellence) เพื่อตอบสนองความต้องการแก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม

สำหรับธุรกิจหลักจะจัดหาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นตรวจสอบคุณภาพปั๊ม (Pump Audits) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต อาทิ การผลิตรถยนต์ (EV), บรรจุภัณฑ์, อิเล็กทรอนิกส์ และ สาธารณูปโภค โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปีนี้ที่ 25%

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ วางแผนจับมือพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดการเติบโต ทั้งการร่วมทุน Joint Venture (JV) ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการควบรวมและซื้อกิจการ Merger and Acquisition (M&A) ในธุรกิจพลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งตั้งงบลงทุนไว้ที่ 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ประเมินว่ารวมภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีแนวโน้มที่จะออกข้อกฎหมายบังคับใช้ทุกภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มทยอยลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขานรับนโยบาย

ทั้งการซ่อมบำรุง การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการระบบน้ำ การควบคุมอุณหภูมิ เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต และบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มความสามารถการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสทำกำไรได้สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงถือเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัททั้งสิ้น

ด้าน นายวิรัฐ สุขชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HARN เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจปี 2567 จะมีสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น จากการนำโซลูชันใหม่เข้ามาจำหน่าย เพื่อช่วยลูกค้าลดระยะเวลาการทำงาน เพิ่มความสามารถการทำกำไร และประหยัดค่าแรงซึ่งถือเป็นต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมใน EEC, โปรเจ็กต์รถไฟฟ้าความเร็วสูง, รถไฟฟ้า 3 สนามบิน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ

โดยปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อกงานดับเพลิงอยู่ที่ 300 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายในปี 2567 โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้แตะ 1.43 พันล้านบาท ซึ่งสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากการขายระบบดับเพลิง 45% การขายเครื่องพิมพ์ 25% การขายเครื่องทำความเย็น 15% การขายระบบปรับอากาศ 7-8%

ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการขายสินค้าอื่นๆ ที่ผ่านมาบริษัททำการตลาดกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ท่อมาแล้ว อาทิ ระบบอากาศ VRF หรือระบบควบคุมอากาศ จำกัดฝุ่น เป็นต้น

Back to top button