กทม. จ่อโอนรถไฟฟ้า 3 สาย ลงทุนใหม่คืน “กระทรวงคมนาคม” ก่อสร้างแทน
“วิศณุ ทรัพย์สมพล” เผยที่ประชุม กทม. มีมติยกเลิกโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน เทา และฟ้า ที่จะลงทุนใหม่ส่งคืนกระทรวงคมนาคมให้ก่อสร้างแทน หลังไร้งบประมาณ ขณะที่มีโครงการอื่นจำเป็นต่อประชาชนมากกว่า หวังรัฐบาลดำเนินการเพื่อเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (13 ก.พ.67) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าที่จะต้องลงทุนก่อสร้างใหม่ในความรับผิดชอบของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) คืนไปให้ กระทรวงคมนาคม จำนวน 3 โครงการ อาทิ โครงการสายสีเงิน สายสีเทา และสายสีฟ้า
ทั้งนี้มีข้อพิจารณาแล้วว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน มีเส้นทางระหว่างบางนา เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมระยะทาง 19.7 กิโลเมตร จำนวน 14 สถานี จะเชื่อมต่อกับสายสีเขียวที่สถานีบางนา และสายสีเหลือง ที่สถานีศรีเอี่ยม ซึ่งพบว่าเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง สังกัดกระทรวงคมนาคม และเส้นทางเกินครึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล เชื่อมทองหล่อ รวมระยะทาง 16.3 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี จะมีสถานีใหม่ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าถึง 5 สาย ทั้งสายสีชมพู, สายสีน้ำตาล, สายสีเหลือง, สายสีส้ม และสายสีเขียว ที่สถานีทองหล่อ แต่เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้า เส้นทางดินแดง เชื่อมสาทรรวมระยะทาง 9.5 กิโลเมตร มีจำนวน 9 สถานี ตามแผนจะเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน ที่สถานีเพลินจิต ศาลาแดง
ขณะที่เหตุผลหลักที่โอนคืนรัฐบาล เนื่องจาก (กทม.) ไม่มีงบประมาณเพียงพอหากดำเนินการ เพราะมีโครงการอื่นที่จำเป็นมากกว่า หากรัฐบาลดำเนินการระบบตั๋วร่วมที่ต้องเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่มีเกือบ 10 สายทางในปัจจุบัน และโครงการที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.ลงนาม และแจ้งต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้พิจารณา
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าที่ กทม.จะตั้งใจเดินหน้าทำเองคือ สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงบางหว้า เชื่อมตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร มูลค่า 7,000 ล้านบาท ขณะนี้ กทม.กำลังอยู่ในช่วงหารือร่วมกับ กรมทางหลวงชนบท เพื่อขอพื้นที่ถนนราชพฤกษ์บางส่วนมาใช้ในการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณปี 68 เพื่อศึกษารูปแบบการลงทุน ในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม