ตลท.สั่ง CMO แจงเรื่อง “ควบคุมภายในองค์กร” เดดไลน์ 27 ก.พ.นี้!

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่ง CMO ชี้แจงเรื่องควบคุมภายในองค์กร เดดไลน์ 27 ก.พ.นี้ แจง 3 ประเด็นหลักขาดกระบวนการชัดเจนและรัดกุมเพียงพอในการคัดเลือกผู้ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา รวมถึงขาดกระบวนการในการติดตามผลการปฏิบัติงานของคู่ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา และขาดกระบวนการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของกลุ่มบริษัท และการตัดสินใจร่วมโดยดณะกรรมการบริหารของบริษัท


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขอให้ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ชี้แจงแนวทางการปรับปรุงระบบควบคุมภายใน กรณีผลการตรวจสอบ Special Audit ตามคำสั่งการของ สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สรุปได้ว่าบริษัทมีการจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการปฏิบัติงานร่วมกันกับบริษัท และมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท มูลค่าความเสียหายรวม 25.55 ล้านบาท โดยความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารของบริษัทและบริษัทที่ปรึกษา อาจสื่อถึงความไม่รัดกุมในการบริหารจัดการ อันเป็นเหตุให้บริษัทเกิดความเสียหายทางการเงินได้ รวมถึงอาจสื่อได้ว่าอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มบริษัท

ทั้งนี้ ให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษารายงานตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษและติดตามคำชี้แจงของบริษัท

ข้อมูลสรุปผลรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit)

  1. การจัดจ้างและจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ปรึกษาโดยที่ไม่ได้รับบริการจริง มูลค่าความเสียหาย 19.8 ล้านบาท โดยผลการตรวจสอบ ดังนี้

การคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาอาจมิได้มีความชัดเจนรัดกุมเพียงพอ คณะกรรมการบริหารว่าจ้างและคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา 4 ราย โดยไม่มีการพิจารณาเปรียบเทียบที่ปรึกษาที่บริษัทจัดจ้างกับคู่ค้ารายอื่น

บริษัทไม่มีหลักฐานอื่นเพิ่มเติมจากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา 3 ราย (จากจำนวน 4 รายดังกล่าวข้างต้น) ที่สามารถใช้อ้างอิงหรือพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ามีการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างบริษัทและบริษัทที่ปรึกษา

พบความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารของบริษัท (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) กับบริษัทที่ปรึกษาอาจสื่อถึงความไม่รัดกุมในการบริหารจัดการ อันเป็นเหตุให้บริษัทเกิดความเสียหายทางการเงินได้

  1. ค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มบริษัท มูลค่าความเสียหาย 5.75 ล้านบาท โดยผลการตรวจสอบ ดังนี้

กลุ่มบริษัทไม่ได้รับบริการจากคู้ค้า แต่ได้มีการจ่ายค่าใช้จ่ายออกไปจากกลุ่มบริษัทผ่านการจัดจ้างแบบไม่มีสัญญาและการเบิกเงินทดรองจ่ายของพนักงาน

บริษัทและบุคคลผู้รับจ้างมีความเกี่ยวข้องกับอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งอาจสื่อได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากค่าใช้จ่ายไม่เหมาะสมเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทยังมีจุดอ่อนในระบบการควบคุมภายในที่ควรพิจารณาปรับปรุง ประกอบด้วย ดังนี้

1.ขาดกระบวนการที่ชัดเจนและรัดกุมเพียงพอในการคัดเลือกผู้ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา

2.ขาดกระบวนการในการติดตามผลการปฏิบัติงานของคู่ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา

3.ขาดกระบวนการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของกลุ่มบริษัท และการตัดสินใจร่วมโดยดณะกรรมการบริหารของบริษัท

Back to top button