NAT เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเป้า 8.90 บาท โบรกชี้กำไร 3 ปี โตเฉลี่ย 34%
NAT เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเป้า 8.90 บาท ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรปี 66-68 เติบโตเฉลี่ย 34.1% รับขยายธุรกิจและฐานลูกค้าภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น ด้าน 5 โบรกให้ราคาเป้าหมาย 7.00-8.90 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2567) หลักทรัพย์ บริษัท แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NAT ได้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มเทคโนโลยีในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับ NAT มีทุนชำระแล้วหลัง IPO อยู่ที่ 164 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 236 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 92 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณจำนวนไม่เกิน 13.8 ล้านหุ้น บุคคลที่มีความสัมพันธ์จำนวนไม่เกิน 4.25 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานจำนวนไม่เกิน 4.30 ล้านหุ้น และประชาชนทั่วไปตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 69.65 ล้านหุ้น และเสนอขายในวันที่ 8-9 และ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ในราคาหุ้นละ 5.40 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 496.80 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO อยู่ที่ 1,771.20 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 12.56 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566) ซึ่งเท่ากับ 141.29 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.43 บาท โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
สำหรับ NAT ดำเนินธุรกิจบริการให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา จำหน่ายอุปกรณ์พร้อมติดตั้ง และรับเหมาวางระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (System Integration) รวมถึงบำรุงรักษา และการให้บริการอื่นๆ เช่น การให้บริการเจ้าหน้าที่ไอที การเดินสายระบบเน็ตเวิร์ก การให้บริการงานด้านระบบภายในอาคาร และการให้เช่าเครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เป็นต้น
นายสุธี อภิชนรัตนกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NAT เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยประสบการณ์กว่า 19 ปี เป็นคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีทีมงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ มีการให้บริการที่ดี ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และใช้ในการว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ของบริษัทในอนาคต
โดย NAT มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ บริษัท นภาสุ จำกัด ถือหุ้น 35.98% และบริษัท โปรฟิต เอกเซลเล้นซ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 35.98% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทในแต่ละปี ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมายและทุนสำรองอื่น
ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากมีความมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ที่มีโอกาสเติบโตทั้งด้านฐานะการเงิน และ ผลการดำเนินงาน รวมถึงมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมากกว่า 20 ปี
ภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำเม็ดเงินที่ได้มาเป็นเงินทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจและการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือ และ สร้างการเติบโตยั่งยืนตามแผนที่บริษัทได้วางไว้
บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของ NAT ด้วยวิธี PER ได้ราคาเหมาะสมที่ 7.80-8.90 บาทต่อหุ้น อิง PER ปี 67 ที่ 15-17 เท่า เชื่อว่าหลังจากเพิ่มทุน IPO บริษัทจะมีโอกาสรับงานที่มีมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปแบบของงานวางระบบติดตั้ง Software, Data center และงานติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์ Cybersecurity, Server
พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 66-68 เติบโตเฉี่ย CAGR ที่ 28% เพิ่มขึ้นจาก 101 ล้านบาทในปี 65 เป็น 212 ล้านบาทในปี 68 จากแบ็กล็อกที่มีมูลค่า 551 ล้านบาท และโอกาสในการประมูลงานที่จะเพิ่มขึ้นในปี 67 ที่จะมาช่วยการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญสอดคล้องกับการประมาณการ
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า NAT จะมีกำไรปี 66-67 ที่เติบโตได้เฉลี่ย 38% จากรายได้ที่สูงขึ้น ตามโครงการรับเหมาวางระบบ ICT ที่คาดจะได้รับมากขึ้น พร้อมประเมินราคาเป้าหมายสำหรับปี 67 ของ NAT ไว้ที่ 7 บาท (อิง PER ที่ 12 เท่า) ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง GABLE และ ITNS ที่มีค่า PER ปี 67 ที่ราว 9-10 เท่า และมีคาดการณ์กำไรปี 67 โต 20-21% ซึ่งต่ำกว่า NAT ที่คาดการณ์ว่าจะมีกำไรปี 67 โต 57%
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ NAT ปี 67 ที่ 7.10 บาท/หุ้น ด้วยวิธี PE 13.5 เท่า คำนวณจาก Gordon Growth Model (L-T ROE 20.7%, Cost of Equity 13.5%) สูงกว่า PE 3 ปี เฉลี่ยที่ 10 เท่า ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน (AIT, ICN, TKC)
สำหรับความน่าสนใจของบริษัท ได้แก่ 1) มีจุดเด่นให้บริการวางระบบเครือข่าย โครงสร้างพื้นฐานและโซลูชั่นเกี่ยวกับ ICT 2) เป็นพันธมิตรระดับ Titanium Partner กับ Dell Technologies และให้บริการโซลูชั่นด้วยผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักของตลาด และ 3) มีสภาพคล่องสูง วงจรเงินสดเป็นลบ
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ NAT โดยอิง PE Multiplier ที่ 15 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ย PE ปี 67 ของบริษัทในต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน และหากเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในไทยที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน มีค่าเฉลี่ยของ PE ในช่วงปี 59-65 ที่ระดับ 13.9-14.1 เท่า บนประมาณการ EPS ของ NAT ที่ 0.58 บาทต่อหุ้นในปี 67 จึงคำนวณได้มูลค่าเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานที่ 8.70 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ผลประกอบการของ NAT ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 63-65) เติบโตเป็นลำดับตามการขยายธุรกิจและฐานลูกค้า โดยรายได้เพิ่มเฉลี่ย 49.4% CAGR กำไรสุทธิโตเฉลี่ย 33.1% สำหรับกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 66-68) ประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 34.1% CAGR จากการเพิ่มขึ้นของรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นตาม Product mix และการมีลูกค้าภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเม็ดเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน IPO ทำให้ฐานทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถรับงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเหมาะสมด้วยวิธี Prospective P/E Ratio โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดเอ็มเอไอ อาทิ AIT, MFEC, GABLE, TKC, ICN และ ITNS ได้ค่าเฉลี่ยที่ 14.8 เท่า และคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 67 ที่ 0.55 บาทต่อหุ้น ได้ราคาเหมาะสมปี 67 ที่ 8.14 บาท
พร้อมกันนี้ คาดการณ์รายได้และกำไรปี 66 เติบโต 36% จากปีก่อน และเติบโต 21% จากปีก่อนสู่ 1,485 ล้านบาท และ 122 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่คาดการณ์ว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวลงจากปี 65 ที่ 15.8% เหลือ 14.7% ในปี 66 เนื่องจากรับรู้งานบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งงานบริการมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่ารายได้จากการขาย
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่ารายได้และกำไรปี 67 จะกลับมาเติบโต 44% จากปีก่อน และ 48% จากปีก่อน ตามลำดับสู่ 2,138 ล้านบาท และ 180 ล้านบาท โดยได้แรงหนุนจาก 1) หน่วยงานภาครัฐเตรียมระบบรองกับการทำงานออนไลน์เพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 2) บริษัทเอกชนหันมาลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นเพื่อการทำงานอย่างยืดหยุ่นหลังการแพร่ระบาด COVID-19