“เศรษฐา” หารือ “ฮุน มาแนต” ร่วมใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา”
“เศรษฐา ทวีสิน” หารือ “ฮุน มาแนต” เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ดึงขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาท ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หวังสร้างความมั่นคงพลังงาน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยในงานสัมมนาด้านพลังงานประจำปีระดับประเทศ เรื่องจุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน จัดโดย สมาคมวิทยาการพลังงาน ร่วมกับ สถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่าการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (โอซีเอ) รัฐบาลได้พูดคุยเรื่องนี้ในช่วงที่ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องนี้ โดยระยะต่อไปทั้ง 2 ประเทศ จะมีการเจรจาเพื่อนำสินทรัพย์นี้ออกมาใช้โดยเร็ว
“โดยตอนนี้หลายคนให้ความสนใจเรื่องโอซีเอ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และขึ้นกับว่าตัวเลขไหนที่คนพูดกัน โดยอาจถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องของชายแดน เขตแดนอยู่ และถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวในพื้นที่ทับซ้อนกับขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง อยากให้ทุกฝ่ายสบายใจว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เขตแดน และปัญหาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว
ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTTกล่าวว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในมุม ปตท. อาจจะมีโมเดลที่ให้ศึกษาเป็นตัวอย่างได้ อย่างพื้นที่ไทย-มาเลเซีย เรื่องการแบ่งดินแดนนั้นไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา แต่หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย และหากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวกเช่นเดียวกัน
ขณะที่นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ (พีดีพี) ฉบับใหม่ขณะนี้มีการปรับปรุงเล็กน้อยคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จากทุกภาคส่วนได้ภายในปลายเดือน ก.พ. นี้ หรือราวต้นเดือน มี.ค. 67 โดยแผนดังกล่าวจะวางกรอบทางเลือกไว้ 7 แนวทาง อาทิ ราคา, ก๊าซ, ยานยนต์ไฟฟ้า, (อีวี), การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดทั้งไฟจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และลม รวมถึง 1 ในนั้น จะมีทางเลือกคือเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปัจจุบันเป็นเจน 4 – 5 เป็นลักษณะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอาร์ ที่จะนำมารับฟังความเห็น
ส่วนการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ถือเป็นความหวัง หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องหวังรัฐบาลชุดอื่น หากสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ ซึ่งการทำพลังงานสะอาด หากจะให้มั่นคงจะต้องดูว่า อะไรพอทำได้ นำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งแสงแดดและลม มีความมั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ขณะที่เวียดนามอยู่ที่หน่วยละ 2.67 บาท และอินโดนีเซียหน่วยละ 2.52 บาท ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ เป็นคู่แข่งทางการค้าในอุตสาหกรรมเดียวกันทำให้การแข่งขันของไทยลดลง จึงอยากเห็นค่าไฟฟ้าของไทยในระยะต่อไปอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง และสนับสนุนให้ไทยมีการพัฒนาแหล่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา เข้ามาเพื่อทำให้ต้นทุนลดลงได้ทันที