RABBIT เจอพิษเงินลงทุน-ค่าใช้จ่ายพุ่ง กดงบปี 66 พลิกขาดทุน 4.4 พันล้านบาท

RABBIT รายงานงบปี 66 พลิกขาดทุน 4.4 พันล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 1.2 พันล้านบาท เหตุขาดทุนส่วนแบ่งเงินลงทุนบริษัทร่วม และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น


บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT รายงานผลประกอบการปี 66 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.66 พลิกขาดทุนสุทธิ ดังนี้

สำหรับ RABBIT รายงานผลประกอบการปี 66 บริษัทพลิกขาดทุนสุทธิ 4,383.86 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,208.66 ล้านบาท สาเหตุจากรายได้รวมอยู่ที่ 5,283 ล้านบาท ลดลง 2,646 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.4 จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 7,930 ล้านบาท โดยการลดลงของรายได้รวมมีปัจจัยหลักมาจาก (i) การลดลงของรายได้อื่น 1,182 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีการบันทึกกำไรจากการจำหน่ายหุ้นสามัญของกลุ่มโรงแรมที่ยุโรปในส่วนที่ถือโดย Lombard Estate Capital GmBH (“LEC” ชื่อเดิม คือ Vienna House Capital GmbH) และโครงการร่วมทุนของ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE ให้กับ บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) (ธนูลักษณ์) (ii) รายได้จากการประกอบกิจการโรงแรมลดลง 1,119 ล้านบาท

ส่วนใหญ่มาจากการขายแพลตฟอร์มบริหารจัดการโรงแรมในยุโรปภายใต้ LEC และ (iii) รายได้จากการรับประกันภัยลดลง 603 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของเบี้ยประกันภัยรับโดยเฉพาะเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การลดลงดังกล่าวถูกชดเชยบางส่วนด้วย (iv) รายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น 514 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเปลี่ยนธุรกิจบริหารโรงแรมในยุโรปไปสู่รูปแบบการปล่อยให้เช่าสินทรัพย์ (โรงแรม) และ (v) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น 460 ล้านบาท เทียบกับ 22 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 7,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,122 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจาก (i) การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER  อยู่ที่ 2,372 ล้านบาท และ (ii) ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ 899 ล้านบาท จากอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศและประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวถูกชดเชยบางส่วนด้วย (iii) ต้นทุนกิจการโรงแรมที่ลดลง 482 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายหุ้นสามัญของกลุ่มโรงแรมในยุโรปตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และ (iv) ค่าใช้จ่ายในการขาย การบริการ และการบริหาร (“SG&A”) ที่ลดลง 351 ล้านบาท

ส่วนแบ่งผลขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า 1,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีส่วนแบ่งผลขาดทุน  115 ล้านบาท โดยส่วนแบ่งผลขาดทุนในปี 2566 ประกอบด้วย (i) ส่วนแบ่งผลขาดทุนจากการลงทุนใน SINGER 795 ล้านบาท (ii) ส่วนแบ่งผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าอื่นๆ 238 ล้านบาท และ (iii) ส่วนแบ่งผลขาดทุนจากโครงการร่วมทุนกับแสนสิริ 87 ล้านบาท

Back to top button