“โกลเบล็ก” แนะเก็บหุ้น “ฟุตซี่ รัสเซล” ชู CPF-HMPRO เด่น
“บล.โกลเบล็ก” ประเมิน SET สัปดาห์นี้แกว่งไซด์เวย์ หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง กดดันเฟดชะลอลดดอกเบี้ย รวมถึง GDP ไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด ให้กรอบดัชนีที่ 1,370-1,400 จุด แนะลงทุนหุ้นเข้าคำนวณ “ฟุตซี่ รัสเซล” ชู CPF-HMPRO เด่น
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัวผันผวนในลักษณะไซด์เวย์ออกข้าง โดยมีแรงกดดันจากสหรัฐรายงานดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตสูงกว่าตลาดคาดการณ์ ทำให้เกิดความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าคาดการณ์ไว้จากเดิม
โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน ส่วนปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน จึงให้กรอบดัชนีที่ 1,370-1,400 จุด
รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีกดดันอยู่ เนื่องจากกระแสข่าวว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีแนวโน้มลงมติหยุดยิงในฉนวนกาซาในวันนี้ (20 ก.พ. 67) แต่สหรัฐส่งสัญญาณว่าจะใช้สิทธิวีโต้ (veto) ส่วนอิสราเอลขัดขวางความพยายามในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา
ขณะที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้น 1.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.4-2.5% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2.2-3.2% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.7% ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากหนี้ครัวเรือน-วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บางกลุ่ม แต่มั่นใจไม่เกิด NPL Cliff
ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลเชิงลบต่อการลงทุน อาทิ วันที่ 21 ก.พ. รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ และในสัปดาห์ที่ 5, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค, วันที่ 29 ก.พ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทย
ส่วนปัจจัยต่างประเทศวันนี้ (20 ก.พ. 67) ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR), สหรัฐ รายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนม.ค. วันที่ 21 ก.พ., คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค., วันที่ 22 ก.พ. อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นเดือนก.พ., สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนม.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นเดือนก.พ. ยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์
ดังนั้น ฝ่ายวิเคราะห์จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่คาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้ามาคำนวณในฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) หลังจากที่มีการประกาศทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่จะใช้ในการคำนวณ FTSE SET Index Series มีผลวันที่ 15 มี.ค. 67 โดยกลุ่ม FTSE Large Cap ไม่มีหุ้นเข้าใหม่ แต่มีหุ้นออก ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL และ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP โดยย้ายมาเข้ากลุ่ม FTSE Mid Cap ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ยังคงชอบ CPF และ HMPRO
สำหรับกลุ่ม FTSE Small Cap ไม่มีหุ้นเข้าใหม่ แต่มีหุ้นออก ได้แก่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX, บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT, บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM, บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART และ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินว่า สัปดาห์นี้จับตารายงานการประชุม FOMC และดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ คาดออกมาสูงกว่าครั้งก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังฟื้นตัว
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำสามารถทรงตัวในระดับสูงได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยคาดว่าราคาทองคำอาจเคลื่อนตัวในกรอบ 1,980-2,020 เหรียญ/ออนซ์ คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้