SCB EIC ชี้เศรษฐกิจไทยปี 67 ฟื้นตัวช้า เซ่นการลงทุนรัฐ-ภาคผลิตหดตัว

SCB EIC ชี้เศรษฐกิจไทยปี 67 ฟื้นตัวช้า จากแรงกดดันของการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มหดตัว ตามความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 และภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม พร้อมจับตาความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานจากการโจมตีของ “กบฏฮูตี” และความแห้งแล้งของ “คลองปานามา”


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 ขยายตัวเพียง 1.7% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 0.6% เทียบจากไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล โดยเศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) ในช่วงท้ายปี 2566 ยังมีแรงหนุนสำคัญจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ดีต่อเนื่อง ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำนวนนักท่องเที่ยว และอัตราการว่างงานที่ดีขึ้น อีกทั้ง การส่งออกสินค้าที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีแรงกดดันสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวสูงทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน โดยการลงทุนภาครัฐยังคงหดตัวสูง ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลเนื่องจากความล่าช้าการประกาศ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567

สำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production approach) ภาคบริการขยายตัวดี โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการขายส่งและการขายปลีก ในขณะที่ภาคการก่อสร้างหดตัวสูงตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาล และภาคเกษตรพลิกกลับมาหดตัวตามคาดการณ์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแล้งที่เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ส่งผลให้ผลผลิตพืชหลายชนิดปรับตัวลดลง อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 จะขยายตัวได้สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา มีแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้อานิสงส์จากเทศกาลตรุษจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวหลายประเทศกลับมาใกล้เคียงระดับปกติ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะพลังงาน และโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้ จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ล่าช้าทำให้แรงส่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐมีแนวโน้มซบเซาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567กดดันการบริโภคและลงทุนภาครัฐ

โดย SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 ฟื้นตัวช้า โดยมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนตามการฟื้นตัวของภาคบริการจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและการท่องเที่ยวในประเทศที่ผู้เยี่ยมเยือนไทยยังเติบโตดี การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) และการส่งออกที่ฟื้นตัวจากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการค้าโลก อย่างไรก็ดี ต้องจับตามองความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานจากเหตุการณ์การโจมตีของกบฏฮูตีและความแห้งแล้งของคลองปานามา

ในขณะที่ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยมาจากการลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวตามความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ส่งผลให้ภาพรวมแรงสนับสนุนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจำกัดในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้มากขึ้นหลัง พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 ประกาศใช้ในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคมโดยเฉพาะในด้านการลงทุน แต่จะไม่สามารถเร่งรัดได้อย่างเต็มที่ภายใต้ช่วงเวลาที่จำกัด อีกทั้ง ภาครัฐยังจะมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณมากขึ้นจากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงหลังวิกฤติโควิด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานยังอ่อนแอ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรมและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในระยะต่อไป

Back to top button