“บอร์ดอีวี” ไฟเขียวหนุน “รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า” ดึงรายใหญ่ผลิตแบตเตอรี่

บอร์ด EV เคาะ 2 มาตรการสนับสนุนการใช้อีวีเชิงพาณิชย์รถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) รวมถึงออกแพ็กเกจสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอีวีไทย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางอีวีอาเซียน


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ

โดยมาตรการดังกล่าว จะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้ จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“การที่บอร์ดอีวี ได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

นอกจากนี้ บอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบมาตรการสงเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

2.ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลส์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้

3.ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg

4.ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเวลาลงทุนภายในปี 2570

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแช่งขันของประเทศฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป

“แบตเตอรี่ ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี ปัจจุบัน มีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็คในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอีวีไทย แต่ยังช่วยต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ” นายนฤตม์ กล่าว

ขณะเดียวกันบอร์ดอีวียังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิ ให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ สามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 ตันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อนหน้า นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์อีวี 18 โครงการ เงินลงทุน 40,004 ล้านบาท รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ เงินลงทุน 848 ล้านบาท รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท แบตเตอรี่สำหรับรถอีวี และ ESS จำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 23,904 ล้านบาท ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ เงินลงทุน 6,031 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ เงินลงทุน 4,205 ล้านบาท

Back to top button