บอร์ด “ตลท.” ยกระดับมาตรการคุมเข้ม “ขายชอร์ต-โปรแกรมเทรดดิ้ง”
บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบเคาะมาตรการคุมเข้ม “ชอร์ตเซล” เพิ่มขนาด Market Cap. ขั้นต่ำจากเดิม 5 พันล้านบาท เป็น 7 พันล้านบาท และคุมความผันผวนของโปรแกรมเทรดดิ้งของรายหุ้นระหว่างวัน รวมถึงปรับปรุงเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 รายงานจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ทตลท.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้นำผลการศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภทนั้น
โดยวานนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อที่จะยกระดับการกำกับดูแลการชอร์ตเซล และการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง พร้อมทั้งการปรับเพิ่มมาตรการการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ดังนี้
1) กำกับดูแลการขายชอร์ต
เพิ่มขนาด Market Cap. ขั้นต่ำจากเดิม 5 พันล้านบาท เป็น 7 พันล้านบาท และหุ้นต้องมีวอลุ่มต่อเดือนเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นจดทะเบียนมากกว่า 2%
กรณีราคาหุ้นรายหลักทรัพย์ลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า (DoD) กำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องสูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule)
กรณีพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการขายชอร์ต จะกำหนดระวางโทษปรับที่จะลงต่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า
2) กำกับดูแล program trading
คุมความผันผวนของราคารายหุ้นระหว่างวันโดยกำหนดกรอบไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ (เช่น +/- 10%DoD) ซึ่งหากถึงระดับราคาดังกล่าวก็จะหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวก่อนเปิดซื้อขายใหม่
กำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เช่น auto halt หากมีการซื้อขายหุ้นในปริมาณเกินกว่าระดับที่กำหนด, จัดทำระบบกลางป้องกันไม่ให้มีการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่จนเกินไป
ยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT)
3) ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล
เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม
เปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นใน NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า 10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลดความผันผวนของหุ้น
ทั้งนี้มาตรการข้างต้นมองว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ในระดับนึง และจะช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น
พร้อมทั้งจะนำไปปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้