โบรกคัด 15 หุ้น รับตลท. คลอดมาตรการคุมเข้ม “ขายชอร์ต-โปรแกรมเทรดดิ้ง”
บล.เอเซีย พลัส คัด 15 หุ้นใหญ่สภาพคล่องไม่สูงมาก-ถูก Short เยอะก่อนหน้า รับประโยชน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการยกระดับคุมเข้ม “ขายชอร์ต-โปรแกรมเทรดดิ้ง” นำโดย AOT, INTUCH, DELTA, BJC, CPAXT,BDMS, AEONTS, MBK, SCC, OR, BTS, BANPU, BTG, COM7, RAT
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บอร์ทตลท.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้นำผลการศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภทนั้น มีรายละเอียด 3 ข้อดังนี้
1) กำกับดูแลการขายชอร์ต โดยเพิ่มขนาด Market Cap ขั้นต่ำจากเดิม 5 พันล้านบาท เป็น 7 พันล้านบาท และหุ้นต้องมีวอลุ่มต่อเดือนเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นจดทะเบียนมากกว่า 2%กรณีราคาหุ้นรายหลักทรัพย์ลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า (DoD) กำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องสูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule)กรณีพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการขายชอร์ต จะกำหนดระวางโทษปรับที่จะลงต่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า
2) กำกับดูแล program trading คุมความผันผวนของราคารายหุ้นระหว่างวันโดยกำหนดกรอบไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ (เช่น +/- 10%DoD) ซึ่งหากถึงระดับราคาดังกล่าวก็จะหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวก่อนเปิดซื้อขายใหม่กำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เช่น auto halt หากมีการซื้อขายหุ้นในปริมาณเกินกว่าระดับที่กำหนด, จัดทำระบบกลางป้องกันไม่ให้มีการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่จนเกินไป ยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT)
3) ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม โดยเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นใน NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า 10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลดความผันผวนของหุ้น
ซึ่งกระบวนการถัดไป คือ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่ได้ระบุวัน-เวลา ที่แน่ชัด ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์วันที่ 23 ก.พ. 67 ว่า หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการออกมตจรการเรียกความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย โดยออกแนวทางแก้ไขปัญหาการ Short selling และ Program trading ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้เม็ดเงินลงทุนตต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยในระยะถัดไป (จากการที่ซื้อสุทธิมาแล้ว 2 วันติดต่อกัน ราว 1 หมื่นล้านบาท) โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวมี 2 กลุ่ม คือ
- หุ้นขนาดใหญ่สภาพคล่องไม่สูงมาก อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT
รวมถึงบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS, บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
- หุ้นที่ถูก Short เยอะในก่อนหน้านี้ โดยราคาหุ้นปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นปี และมีโอกาสถูก Cover Short ได้ในระยะถัดไป อาทิ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG, บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เป็นต้น