“อดีตผู้ว่าฯ ธปท.” เตือนสติ! อย่าใช้ “วิวาทะนโยบายการเงิน” แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย
“วิรไท สันติประภพ” ชี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง หากเปรียบเป็นคนป่วยต้องใช้ “ยาเฉพาะทาง” ไม่สามารถรักษาได้ “นโยบายการเงิน” ที่เปรียบเหมือนการให้ “น้ำเกลือ “ แนะควรให้ความสำคัญกับ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่โครงสร้าง หากเปรียบเป็นคนป่วย จะต้องได้รับยารักษาเฉพาะโรค “นโยบายการเงิน” เป็นเพียงแค่ “น้ำเกลือ” ไม่ใช่ยาเฉพาะทาง แนะนำควรให้ความสำคัญกับ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน” มากกว่า “นโยบายการเงิน” หวัง “หมอใหญ่” ร่วมกันเร่งหายาเฉพาะทาง เพื่อช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ดีกว่าสร้างวิวาทะเรื่องนโยบายการเงิน
นายวิรไท ยังได้อธิบายว่า หากพูดถึง นโยบายเศรษฐกิจมหภาค คนทั่วไปมักนึกถึงนโยบายหลัก 3 ด้าน คือ นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นโยบายแต่ละด้านมีวัตถุประสงค์ วิธีการทำงาน ข้อจำกัด และผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จึงต้องประสานนโยบายทั้ง 3 ด้านเข้าด้วยกัน จัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมกับปัญหา และบริบทในแต่ละช่วงเวลา เศรษฐกิจถึงจะก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ไม่สร้างผลข้างเคียงให้ต้องตามแก้ไขกันทีหลัง
โดยเฉพาะ “นโยบายการเงิน” เป็นนโยบายที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้ เป็นเหมือน “น้ำเกลือ” ที่ฉีดเข้าเส้นเลือดหลัก เพื่อรักษาอาการขาดน้ำหรือขาดแร่ธาตุจำเป็น แม้ว่าจะช่วยให้คนไข้ดูสดชื่นขึ้นบ้าง แต่น้ำเกลือไม่สามารถแก้ไขอาการป่วยที่ต้องการยาเฉพาะทาง หรือรักษาอวัยวะบางจุดที่เส้นเลือดอาจตีบตันได้ ในกรณีที่เส้นเลือดตีบตัน ก็ต้องรักษาเส้นเลือดก่อน ถ้าคิดแต่ให้น้ำเกลือเข้าไปเพิ่มขึ้น นอกจากจุดที่เส้นเลือดตีบตัน จะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว อาจจะส่งผลให้เกิดอาการน้ำท่วมปอด กระทบต่อการทำงานของไต กระเพาะปัสสาวะ ต้องหาทางให้ร่างกายขับน้ำส่วนเกินออกมา ในระยะยาวย่อมไม่เกิดผลดีต่อร่างกายผู้ป่วยอย่างแน่นอน
อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ยังมองว่า สภาวะเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ปัญหาใหญ่ที่ทุกคนคงเห็นตรงกัน คือ เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้รายได้และสินทรัพย์กระจุกตัว เศรษฐกิจในภาพรวมยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ธุรกิจขนาดใหญ่มีพลังและอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ธุรกิจ SMEs ทำธุรกิจด้วยความยากลำบาก คนที่อยู่ฐานล่างของสังคม มีรายได้แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนี้ท่วม แม้ว่าโควิดจะสงบลงแล้ว แต่วิกฤตโควิดได้ฉุดให้ธุรกิจ SMEs จำนวนมากล้มละลาย คนจำนวนมากติดอยู่ในกับดักหนี้แบบไม่เห็นทางออก
ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยก็ต้องเผชิญกับโชคร้ายซ้ำสอง เนื่องจากความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณถูกเลื่อนออกไปนานกว่า 8 เดือน งบประมาณภาครัฐที่เคยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไป
นอกจากนี้ ในภาคการเงิน ก็จะเห็นภาพที่คล้ายกันกับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาค ซึ่งจะพบว่า ระบบการเงินไทยยังมีสภาพคล่องส่วนเกิน ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยไม่ค่อยต่างกับในอดีต ในขณะที่ธุรกิจ SMEs ถูกตัดวงเงินสินเชื่อ ถูกปรับลดวงเงิน หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่แย่ลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ถ้าจะเปรียบกับร่างกายคนแล้ว สภาวะเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ก็คงเหมือนคนที่กำลังฟื้นจากอาการป่วย ในภาพรวมดูมีกำลังเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหารุนแรงเฉพาะจุดอยู่หลายที่ เส้นเลือดหลายเส้นตีบตัน อวัยวะบางส่วนอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้ต่อไป ก็จะส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกายโดยรวมอย่างแน่นอน แต่การรักษาอาการเหล่านี้ ต้องใช้ยาเฉพาะทาง ไม่สามารถรักษาได้เพียงแค่การให้ “น้ำเกลือ”
การแก้ปัญหาด้านการเงินและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไทย ควรให้ความสำคัญกับ นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงินมากกว่านโยบายการเงิน โดยต้องแก้ปัญหาเส้นเลือดเส้นเล็กตามจุดต่างๆ ตีบตัน เพื่อให้อวัยวะน้อยใหญ่ทั่วร่างกายได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึง นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน ต้องกำหนดเป้าหมายเฉพาะจุดให้ชัดเจน ไม่สามารถทำแบบเหวี่ยงแหได้ ต้องใส่ใจเรื่องกลไกการทำงานของระบบการเงิน และที่สำคัญต้องระมัดระวังไม่สร้างผลข้างเคียงที่ต้องมาแก้ไขในระยะยาว โดยเฉพาะการทำลายวัฒนธรรมทางการเงินที่ดี (moral hazards) มีตัวอย่างมาตรการที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างน้อย 3 กลุ่ม ดังนี้
- เพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินให้ธุรกิจ SMEs
- เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนให้เท่าทันกับขนาดและความรุนแรงของปัญหา
- เร่งรัดกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจ SMEs กระบวนการการไกล่เกลี่ยและบังคับคดีให้รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ลูกหนี้
ทั้งนี้ มาตรการด้านการเงินข้างต้น เป็นเพียงบางตัวอย่างที่จะช่วยกระจายสภาพคล่องทางการเงินให้ตรงจุด ซึ่งในเวลานี้ควรได้รับความสนใจและความสำคัญมากกว่า “วิวาทะเรื่องนโยบายการเงิน”
อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ยังคาดหวังว่า หมอใหญ่ทั้งหลาย จะหยุดถกเถียงกันเรื่องการให้น้ำเกลือคนไข้ หันมาร่วมกันหายาเฉพาะทาง เพื่อรักษาเส้นเลือดที่ตีบตัน เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ของคนไข้ที่ชื่อ “เศรษฐกิจไทย” ฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม