สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ก.พ. 2567
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 ก.พ. 2567
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (27 ก.พ. 67) ขณะนักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐซึ่งอาจบ่งชี้กำหนดเวลาที่เป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ดัชนี DJIA ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 38,972.41 จุด ลดลง 96.82 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 5,078.18 จุด เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือ +0.17% และดัชนี NASDAQ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 16,035.30 จุด เพิ่มขึ้น 59.05 จุด หรือ +0.37%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันอังคาร (27 ก.พ. 67) โดยดัชนี DAX ของตลาดหุ้นเยอรมนีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับกำหนดเวลาที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ดัชนี STOXX600 ปิดตลาดที่ระดับ 496.33 จุด เพิ่มขึ้น 0.90 จุด หรือ +0.18%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,948.40 จุด เพิ่มขึ้น 18.58 จุด หรือ +0.23%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 17,556.49 จุด เพิ่มขึ้น 133.26 จุด หรือ +0.76% และดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,683.02 จุด ลดลง 1.28 จุด หรือ -0.02%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันอังคาร (27 ก.พ. 67) โดยถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ หุ้นยูนิลีเวอร์ และหุ้นอิมพีเรียล แบรนด์ส ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายหุ้นก่อนการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของยุโรปและสหรัฐในสัปดาห์นี้
ดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,683.02 จุด ลดลง 1.28 จุด หรือ -0.02%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (27 ก.พ. 67) ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกหลังสิ้นสุดไตรมาสแรก นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอย่างใกล้ชิด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.66% ปิดที่ 78.87 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 1.12 ดอลลาร์ หรือ 1.36% ปิดที่ 83.65 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวเพิ่มขึ้นในการซื้อขายเมื่อวันอังคาร (27 ก.พ. 67) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนเพื่อชดเชยการขายชอร์ต (short covering) ด้วย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 5.20 ดอลลาร์ หรือ 0.26% ปิดที่ 2,044.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 2.20 เซนต์ หรือ 0.10% ปิดที่ 22.757 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 15.90 ดอลลาร์ หรือ 1.80% ปิดที่ 897.0 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 14.50 ดอลลาร์ หรือ -1.5% ปิดที่ 952.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (27 ก.พ. 67) ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐถ่วงดอลลาร์ลง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยอยู่ที่ระดับ 103.829
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเยน หลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อสูงกว่าคาด และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐลดลงมากเกินคาดในเดือน ม.ค.
ข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดของญี่ปุ่นทำให้ตลาดยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือน เม.ย.นี้
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ร่วงลง 6.1% ในเดือน ม.ค. โดยลดลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าอาจลดลง 4.5% ส่วนดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.1% สู่ระดับ 150.56 เยน และ ยูโรอ่อนค่าลง 0.1% สู่ระดับ 1.0837 ดอลลาร์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่กลางเดือนก.พ.ที่เข้าทดสอบระดับ 1.0695 ดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.