“ออมสิน” จับมือ BAM ตั้ง บ.ร่วมทุน “JV AMC” เคลียร์หนี้ช่วยประชาชน

“ออมสิน” ผนึก BAM จัดตั้ง บ.ร่วมทุน “JV AMC” สัดส่วน 50:50 เดินหน้า “เคลียร์หนี้” ขณะที่รอประกาศเกณฑ์การจัดตั้ง หวังลดภาระช่วยแก้ปัญหาประชาชน


นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย ว่าธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ถึงแนวทางร่วมทุนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 50% เนื่องจากเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของภาครัฐ และรอประกาศเกณฑ์การจัดตั้ง

“ทั้งนี้ ที่ธนาคารไม่ได้จับกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เนื่องจาก SAM ไม่ได้ทำรายย่อยขณะที่ BAM กำลังจะทำ และจะขยายมารายย่อย มีการวางระบบไว้หมดแล้ว” นายวิทัย กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่ไม่ขายหนี้ดังกล่าวให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ AMC ที่มีอยู่แล้วแทนที่จะเป็น JV AMC ที่ตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากหนี้เสียที่ออมสินมีอยู่เป็นคลีนโลน ซึ่งขายไม่ได้ราคาจะถูกดิสเคานต์ ทำให้คณะกรรมการธนาคารก็ไม่กล้าอนุมัติขาย ดังนั้นแนวความคิดก็คือการนำหนี้คลีนโลนขายเข้า JV AMC เป็นรัฐต่อรัฐ ซึ่งขายในราคาประเมินแล้วก็เก็บหนี้แค่พอประมาณจะสามารถปิดบัญชีได้

ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า JV AMC จะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน เพราะในอดีตธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีข้อจำกัดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ ไม่สามารถตัดต้นเงินได้ ค่าติดตามไม่คุ้มกับมูลหนี้ หลักเกณฑ์ที่มาตรฐานบัญชีที่เป็นอุปสรรค จึงเป็นปัญหาเรื้อรังขาดความคล่องตัวทำให้หนี้เสียไม่ได้ถูกแก้ไขเกิดหนี้เสียหมักหมม

“โดยกระทรวงการคลังจึงก้าวสู่บริบทใหม่ ตั้งบริษัทร่วมทุน JV AMC รับโอนลูกหนี้ขนาดวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สู่บริษัทร่วมทุน JV AMC นำสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง อย่างคล่องตัว และไม่ติดอุปสรรคหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชี ปรับลดเงินงวดผ่อนชำระง่ายขึ้น ตัดต้นเงิน-ตัดจบหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย และกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้อีกครั้ง” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ หนี้เสียของธนาคารรัฐจะถูกบริหารในมือของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยตรง นอกจากจะบริหารหนี้เสียได้คล่องตัวขึ้นแล้วยังทำให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีเงินทุนขยายการช่วยเหลือประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างอยู่กับ SFIs ได้ประมาณ 3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 230,000 ล้านบาท

Back to top button